ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการโลกสร้างรายได้สูงถึง 8.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี มีอัตราเติบโต 3.5% สูงกว่าอุตสาหกรรมอื่นที่เติบโตอยู่ที่ 2.5% ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งพึ่งพาอุตสาหกรรมนี้เป็นหลักก็สามารถสร้างรายได้สูงถึง 143,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 ทว่า เห็นได้อย่างชัดเจนว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการบริการในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนนั้นมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน จึงทำให้เกิดเป็นข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Tourism Professionals: MRA on TP) ซึ่งประเทศไทยก็ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงนี้ด้วย
ด้วยเหตุนี้เอง วิทยาลัยดุสิตธานี สถาบันการศึกษาผู้บุกเบิกหลักสูตรระดับอุดมศึกษาด้านการท่องเที่ยวและการบริการของประเทศไทยภายใต้เครือโรงแรมดุสิตธานี จึงได้รับการคัดเลือกโดย กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หน่วยงานผู้รับผิดชอบของประเทศไทย ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งของประเทศไทยและประเทศที่ร่วมข้อตกลง
ดร.อรรถเวทย์ พฤกษ์สถาพร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการคณาจารย์ วิทยาลัยดุสิตธานี และหนึ่งในบุคคลสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนามาตรฐานบุคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ที่มีต่อพันธกิจอันยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ว่า "ทรัพยากรบุคคลถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงศักยภาพในการแข่งขันทั้งในระดับภูมิภาคและประชาคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ดังนั้น การมีแรงงานที่มีคุณภาพจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการให้ก้าวหน้า มีหน่วยงานฝึกอบรมและหน่วยงานประเมินในการรับรองบุคลากรด้านการท่องเที่ยวที่มีมาตรฐาน ได้รับการยอมรับจากภาคอุตสาหกรรม และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย อันส่งผลต่อเนื่องถึงความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส และนำไปสู่การขับเคลื่อนบุคลากรที่มีความสามารถและมีความก้าวหน้าในอาชีพ อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทยและภายนอกประเทศได้ในที่สุด"
ภารกิจของวิทยาลัยดุสิตธานีที่ดำเนินการร่วมกับกรมการท่องเที่ยวในการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการในระดับอาเซียน ได้แก่ การจัดทำมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และคู่มือของหน่วยอบรมและหน่วยประเมินของประเทศไทย เพื่อใช้ในการยกระดับคุณภาพและรับรองคุณสมบัติของบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกันใน 10 ประเทศสมาชิก ซึ่งยังไม่นับรวมถึงหลักสูตรปูพื้นฐาน ASEAN MRA on TP ผ่านระบบ e-learning และการเป็นผู้ตรวจประเมินและรับรองหน่วยอบรมและหน่วยประเมินบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย นอกจากนี้ วิทยาลัยยังมีผู้ประเมินและผู้สอนต้นแบบอาเซียนอีกหลายรายที่คอยสนับสนุนการจัดการอบรมผู้ประเมินและผู้สอนระดับประเทศของกรมการท่องเที่ยว
ดร.อรรถเวทย์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า "วิทยาลัยดุสิตธานีเป็นสถาบันการศึกษาเฉพาะทางในด้านการบริการ การท่องเที่ยว และการประกอบอาหาร ซึ่งความมุ่งมั่นของเราคือการสร้างบุคลากรด้านการบริการและการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ มีสมรรถนะในการทำงาน สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม ดังนั้น หน้าที่ของเราคือการนำองค์ความรู้และทักษะที่วิทยาลัยมีมาสนับสนุนการดำเนินการของกรมการท่องเที่ยวเพื่อที่จะเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนากำลังคนของประเทศ ซึ่งการดำเนินการนี้ยังจำเป็นต้องร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้ความมั่นใจว่าประเทศไทยมีกำลังคนที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง"
สำหรับวัตถุประสงค์ของข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรวิชาชีพด้านการท่องเที่ยวอาเซียน MRA on Tourism Professional ก็เพื่อทำให้เกิดความสะดวกในการเคลื่อนย้ายบุคลากรวิชาชีพในสาขาการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างเสรี เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการปฏิบัติที่เป็นเลิศและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศสมาชิก ซึ่งผู้ที่ผ่านการรับรองคุณสมบัติและได้รับใบรับรองมาตรฐานวิชาชีพจะสามารถเดินทางไปทำงานในประเทศสมาชิกอาเซียนได้ โดยยังต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อกำหนดของประเทศนั้น ๆ ข้อตกลงที่ทำร่วมกันนี้จึงช่วยอำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาต ลดขั้นตอนการตรวจสอบวุฒิการศึกษาหรือความรู้ทางวิชาชีพ ทั้งนี้ทุกประเทศต้องปฏิบัติภายใต้มาตรฐานเดียวกันเพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ นั่นเอง
วิทยาลัยดุสิตธานี ซึ่งมีอายุครบ 30 ปีในปีนี้ จึงภูมิใจยิ่งที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมาตลอด 30 ปี ไปสร้างและพัฒนามาตรฐานวิชาชีพให้กับอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและระดับอาเซียน