NIA ร่วมกับม. แม่โจ้เปิดรับสมัครทีมสตาร์ทอัพเข้าร่วมโครงการ AgBioTech Incubation 2023 เปลี่ยนไอเดียเพื่อต่อยอดเป็นธุรกิจ นำเทคโนโลยีชีวภาพแก้ปัญหาภาคเกษตรด้วยความแม่นยำสู่ความยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Wednesday June 14, 2023 11:16 —ThaiPR.net

NIA ร่วมกับม. แม่โจ้เปิดรับสมัครทีมสตาร์ทอัพเข้าร่วมโครงการ AgBioTech Incubation 2023 เปลี่ยนไอเดียเพื่อต่อยอดเป็นธุรกิจ นำเทคโนโลยีชีวภาพแก้ปัญหาภาคเกษตรด้วยความแม่นยำสู่ความยั่งยืน

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เปิดโครงการ AgBioTech Incubation 2023 ขึ้นเป็นปีแรก เพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในระยะเริ่มต้น ด้วยการพัฒนาทักษะและความรู้สำหรับก้าวเป็นสตาร์ทอัพรายใหม่ให้กับนักศึกษา นักวิจัยภาครัฐ ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัย หรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเป็นสตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกให้มีจำนวนมากขึ้น โดยเป็นการปลุกปั้นตั้งแต่ระยะไอเดียให้เข้าใจโจทย์ปัญหาด้านการเกษตร และมีโอกาสนำแนวทางแก้ไขไปทดสอบความต้องการของภาคเกษตรที่แท้จริง เมื่อติดกระดุมเม็ดแรกถูกต้องจะนำไปสู่การขยายธุรกิจในระยะต่อไปได้อย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า "สตาร์ทอัพด้านการเกษตรจะเป็นกำลังสำคัญที่จะเชื่อมโยงและร่วมสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับภาคเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรที่มีความซับซ้อนและมีความหลากหลายได้อย่างแม่นยำ ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและยกระดับภาคเกษตรได้อย่างยั่งยืน

เมื่อปี 2563 NIA และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้จัดทำ "สมุดปกขาวการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของประเทศไทย" เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศ ทั้งนี้ จากผลสำรวจพบว่ามีจำนวนสตาร์ทอัพด้านเกษตรเพียง 53 บริษัท แต่ปัจจุบันเริ่มมีสตาร์ทอัพรายใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะมีอยู่เกือบ 70 บริษัท แต่มีสตาร์ทอัพด้านเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกไม่ถึง 15 บริษัท ดังนั้น จึงมีความต้องการเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพเกษตรเทคโนโลยีเชิงลึกให้มากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรเป็นสาขาหนึ่งที่ประเทศไทยมีโอกาสและปัจจัยสนับสนุนสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเหมาะแก่การเจริญเติบโตและการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนานาพันธุ์ ประกอบกับมีนักวิจัยที่มีความรู้ ความสามารถ และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่คอยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพจำนวนมาก

อีกทั้งรายงานผลการศึกษาของ Hello Tomorrow พบว่าเทคโนโลยีชีวภาพเป็นสาขาเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีการเติบโตและดึงดูดนักลงทุนได้มากที่สุด เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่น และในปี ค.ศ. 2021 ข้อมูลจาก AgFunder พบว่า มูลค่าการระดมทุนของสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพทั่วโลกมีมูลค่า 85.80 พันล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในด้านเกษตร แต่ถ้าเปรียบเทียบกับการได้รับการลงทุนของไทยพบว่าสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ มีมูลค่าเพียง 90 ล้านบาทหรือ คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.10 ของการลงทุนระดับโลกเท่านั้น ทำให้ยังมีโอกาสการเติบโตได้อีกมาก

จากโอกาสและความท้าทายดังกล่าว NIA จึงได้ริเริ่ม "โครงการ AgBioTech Incubation 2023" โดยจะพัฒนานักศึกษา นักวิจัย ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย หรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเป็นสตาร์ทอัพที่มีทักษะและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่พร้อมก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพ และสามารถพัฒนาต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรมสำหรับแก้โจทย์ปัญหาภาคการเกษตรของประเทศ โดยอาศัยกระบวนการบ่มเพาะแบบเข้มข้นผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมถึงการจัดสรรพื้นที่การเรียนรู้และทำงานจริงร่วมกับเครือข่ายและนักลงทุน เพื่อสร้างให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมในการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นความหวังของภาคการเกษตรไทยและเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า พร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรมการเกษตรคลื่นลูกใหม่ของประเทศให้เติบโตไปด้วยกัน

รองศาสตราจารย์ ดร. วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวเพิ่มเติมว่า "หนึ่งในนโยบายสำคัญของมหาวิทยาลัยแม่โจ้คือ การส่งเสริมระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเร่งพัฒนาผู้ประกอบการทั้งรูปแบบของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและทิศทางของโลกในปัจจุบันและอนาคต โดยมีผลการทำงานที่สำคัญคือ การสร้างให้เกิด "ย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้" ที่ได้รับความร่วมมือจาก NIA ในการผลักดันร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเทศบาลท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการพัฒนาและยกระดับกลุ่มผู้ประกอบการและกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ชุมชนและกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่

โครงการ AgBioTech Incubation 2023 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมดำเนินงานกับ NIA และเครือข่ายหน่วยงานพันธมิตรทั้งย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ สถาบันนวัตกรรมเกษตรเพื่ออุตสหากรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์ เพื่อบ่มเพาะให้เกิดสตาร์อทัพด้านการเกษตรรายใหม่ที่มีความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสร้างการเชื่อมโยงให้เกิดระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนับสนุนการสร้าง "ย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้" ให้กลายเป็น "ซิลิคอนวัลเลย์ด้านนวัตกรรมการเกษตรของไทย" ที่มีความพร้อมทั้งด้านงานวิจัย พื้นที่ทดสอบ รวมถึงความร่วมมือกับหน่วยงานชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพของไทยที่สามารถขยายสู่ระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลกต่อไป

ถ้าคุณอยากเรียนรู้เพื่อเป็น AgBioTech Startups...เราพร้อมเป็นเวทีแรกและเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับเส้นทางการเติบโตไปด้วยกัน โครงการ AgBioTech Incubation 2023 เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ทาง http://agbiotech.nia.or.th/ และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ มณฑา ไก่หิรัญ 081-372 9163 อีเมล montha@nia.or.th และ ผศ.ดร. ณภัทร เรืองนภากุล โทร 096-356 2974 อีเมล napat_r@mju.ac.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ