ม.วลัยลักษณ์ จับมือ วช. แถลงข่าวจัดมหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566 ชูแนวคิด"วิจัย นวัตกรรม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ภาคใต้โมเดล" 28 - 30 มิถุนายนนี้
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.) พร้อมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และนายสมพงษ์ มากมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน "มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566 (Regional Research Expo 2023) ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 28 - 30 มิถุนายน 2566 โดยมี ผู้บริหารของมวล. ผู้บริหารวช. คณาจารย์ เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนเข้าร่วม ณ ห้องประชุมหัวตะพาน อาคารอำนวยการ รพ.ศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.'66 ที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า มวล.ได้รับเกียรติจาก วช. กระทรวง อว. ให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน "มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด"วิจัย นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ภาคใต้โมเดล" ซึ่งมวล.ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยระดับแนวหน้าของโลก การจัดมหกรรมในครั้งนี้ได้สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเครือข่ายวิจัยในพื้นที่ภูมิภาค : ภาคใต้ และเป็นการขับเคลื่อนการทำงานของเครือข่ายมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมและเร่งให้เกิดการขยายผลในการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่องในทุกพื้นนี้ได้อย่างครอบคลุมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และการนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปสู่การใช้ประโยชน์ระดับพื้นที่ในวงกว้าง และเป็นกลไกขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาชุมชนต่อไป
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่า วช.เริ่มจัดมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ (Thailand Research Expo) ตั้งแต่ปี 2549 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมและกิจกรรมการวิจัยที่มีคุณภาพของหน่วยงานเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ มุ่งหวังให้ผลงานวิจัยและกิจกรรมการวิจัยได้เผยแพร่สู่ผู้ใช้ประโยชน์ในภูมิภาคต่างๆ โดยมหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาคครั้งนี้ ประกอบด้วย ภาคประชุมสัมมนา ภาคนิทรรศการ และกิจกรรมHighlight Stage นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีความพร้อมใช้ประโยชน์เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาภาคใต้อย่างยั่งยืน ประยุกต์ใช้แนวคิด BCG Model สู่การสร้างความเข้มแข็งและการสร้างรายได้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เชื่อว่าจะช่วยยกระดับศักยภาพผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของภาคใต้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในระดับพื้นที่ในวงกว้างและเป็นรูปธรรม ที่สำคัญบุคลากรสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย ทั้งภาครัฐและเอกชน นักเรียน นักศึกษาเยาวชนและประชาชนทั่วไป ได้นำองค์ความรู้ไปผลิตผลงานวิจัย ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมเพื่อสร้างผลงานที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นไป
ด้านนายสมพงษ์ มากมณี กล่าวว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเมืองการค้า การเกษตร และการท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่ของภาคใต้และเป็นเมืองแห่งอารยธรรม การจัดงาน "มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี จะเป็นโอกาสอันดีที่พี่น้องชาวนครศรีธรรมราชได้ตอนรับประชาคมวิจัย ตลอดจนประชาชนทั่วไปทุกจังหวัดในภาคใต้ รวมถึงภูมิภาคอื่นๆ ที่เดินทางมาร่วมงานในครั้งนี้
"ขอเชิญผู้มาเยือนทุกท่าน ได้ใช้ช่วงเวลานี้สัมผัสกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดนครศรีธรรมราชพร้อมให้การสนับสนุนสำนักงานการวิจัยแห่งชาติและมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในการดำเนินการจัดงานในครั้งนี้ ให้เป็นไปด้วยดี" รองผู้ว่านครศรีฯ กล่าว
ภายในงานแถลงข่าวยังได้มีการนำตัวอย่างผลงานวิจัยเด่นของอาจารย์มวล.มาแสดง 4 ผลงาน ได้แก่ นิทรรศการ "ธนาคารปูม้า" โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ นิทรรศการ "วิธีการอบและการใช้ประโยชน์ไม้ปาล์มน้ำมันในรูปแบบใหม่แบบครบวงจร"โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทน หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ นิทรรศการ "ยกระดับน้ำมันปาล์มดิบ จากเกรดอาหารสัตว์เป็นเกรดเวชสำอาง"โดย รองศาสตราจารย์ รศ.ดร.หมุดตอเล็บ หนิสอ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุฟังชั่นและนาโนเทคโนโลยี และนิทรรศการ "งานวิจัยเด่นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหาร" โดย รองศาสตราจารย์ ดร.มนัส ชัยจันทร์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหาร
สำหรับ มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566 (Regional Research Expo 2023) จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 -มิถุนายน 2566 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โทรศัพท์ 075 673563 เว็บไซต์ https://southresearchexpo2023.wu.ac.th/ เพจเฟซบุ๊ก : มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566