สคร.12 สงขลา ชวนประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ลดป่วยรุนแรง และเสียชีวิต

ข่าวทั่วไป Friday June 16, 2023 10:58 —ThaiPR.net

สคร.12 สงขลา ชวนประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ลดป่วยรุนแรง และเสียชีวิต

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา รณรงค์ ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ตั้งแต่วันนี้ - 31 สิงหาคม 2566 ณ สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ลดการเจ็บป่วยรุนแรง และเสียชีวิต จากโรคไข้หวัดใหญ่

จากข้อมูลระบบเฝ้าระวังโรค ของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 - 31 พฤษภาคม 2566 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ทั้งประเทศ จำนวน 52,539 ราย ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในเขตสุขภาพที่ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 - 31 พฤษภาคม 2566 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ จำนวน 5,175 ราย ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นนักเรียน ร้อยละ 36.98 รองลงมาคือ เด็กในปกครอง ร้อยละ 32.30 และอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 15.66 จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ พัทลุง (230.05) รองลงมา ได้แก่ นราธิวาส (162.38) ยะลา (115.04) สงขลา (82.67) ตรัง (68.32) สตูล (59.33) และปัตตานี (29.06)

สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในปีนี้ กรมควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ดำเนินการรณรงค์ฉีดวัคซีน เริ่มวันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 สิงหาคม 2566 ให้กับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3.ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 6.โรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และ 7.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) มีการระบาดเป็นช่วง ๆ ในฤดูฝนและฤดูหนาว คนทั่วไปจะมีอาการไม่มาก เช่น มีไข้สูง มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ ส่วนใหญ่จะหายได้เอง แต่สำหรับคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้ เช่น ปอดอักเสบหรือปอดบวม สมองอักเสบ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 1422 สายด่วนกรมควบคุม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ