มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program Foundation: HITAP Foundation) ร่วมกับสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ซอว์สวีฮก มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (Saw Swee Hock School of Public Health, National University of Singapore) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ "วิจัยไม่สูญเปล่า: พัฒนานวัตกรรมสุขภาพอย่างไรให้คุ้มค่า" พร้อมจับมือหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการจัดลำดับความสำคัญและการประเมินเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพในประเทศไทย โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัย และนักพัฒนานวัตกรรมจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมงาน ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ "วิจัยไม่สูญเปล่า: พัฒนานวัตกรรมสุขภาพอย่างไรให้คุ้มค่า" ดร. นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ และผศ. ดร. หวัง อี้ (Wang Yi) อาจารย์ประจำสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ซอว์สวีฮก มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ได้ร่วมให้ข้อคิดเห็นในประเด็นที่ว่า นวัตกรรมด้านสุขภาพต้องดีเพียงใดจึงจะเป็นที่ต้องการของผู้ใช้หรือสามารถขายได้ และทำอย่างไรจึงจะรู้ได้ว่าควรลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมนั้นหรือไม่ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับ "การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในระยะพัฒนานวัตกรรม" หรือ early Heath Technology Assessment (early HTA) ให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ
ดร. นพ.ยศ กล่าวว่า "early HTA เป็นงานวิจัยแขนงใหม่ที่ปัจจุบันยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย แต่เมื่อผู้พัฒนานวัตกรรมได้รู้จักและเข้าใจแนวคิดเรื่อง early HTA แล้ว กว่าครึ่งสนใจ และมองว่าจะมีประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ เพราะ early HTA สามารถให้ข้อมูลและแนวทางได้ตั้งแต่ในช่วงของการวิจัยและพัฒนาว่าจะต้องพัฒนานวัตกรรมให้ดีแค่ไหน ในด้านไหน เพื่อให้ตอบโจทย์ของตลาดหรือระบบหลักประกันสุขภาพ ข้อมูลนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จของการพัฒนานวัตกรรมได้อย่างชัดเจน
ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เท่าที่ควร นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นในประเทศจำนวนมากไม่ได้ถูกนำไปต่อยอดจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย และหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญคือการขาดการประเมินเทคโนโลยีในระยะการพัฒนานวัตกรรม หรือ early HTA ซึ่งเป็นกระบวนการประเมินผลกระทบล่วงหน้าที่อาจเกิดขึ้นจากการนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ในเวชปฏิบัติหรือชีวิตประจำวันของประชาชน ภายใต้เงื่อนไขคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งการประเมินที่ว่านี้จะทำให้ผู้ลงทุนและผู้พัฒนานวัตกรรมทราบเป้าหมายคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของเทคโนโลยีที่ต้องพัฒนาขึ้นเพื่อให้เทคโนโลยีนั้น ๆ เป็นที่ต้องการสูงสุดของตลาด
ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ใช้กลไกนี้ในการผลักดันนวัตกรรมด้านสุขภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของระบบสุขภาพในระดับโลก เช่น กำหนดคุณสมบัติของเครื่องมือตรวจคัดกรอง ยาและวัคซีนสำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ตั้งแต่ในช่วงต้นของการแพร่ระบาด นำมาซึ่งการพัฒนานวัตกรรมเหล่านั้นจนได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือองค์กรใกล้เคียงในทุกประเทศทั่วโลก ทำให้สามารถควบคุมและลดความสูญเสียจากการแพร่ระบาดของโรคได้ในเวลาอันรวดเร็ว ในฐานะที่ผมเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญของ WHO ในการกำหนดคุณสมบัติของวัคซีนโควิดตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ก่อนที่จะมีวัคซีนออกสู่ท้องตลาดในปลายปี ผมได้เห็นประโยชน์ของการดำเนินงานในลักษณะนี้ จึงอยากนำมาประยุกต์เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ของประเทศไทย"
ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของ early HTA มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพและสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ซอว์สวีฮก มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ จึงได้ผสานพลังกับ สปสช. TCELS และ สกสว. ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำของไทยในด้านนวัตกรรม นโยบายด้านสุขภาพ และการวิจัยและประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ เพื่อริเริ่มความร่วมมือในด้าน early HTA ในประเทศไทย และได้จัดพิธีลงนามฯ ในครั้งนี้ เพื่อประกาศจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของความร่วมมือของทั้ง 5 หน่วยงาน
ในช่วงพิธีลงนามฯ ผู้แทนจากแต่ละหน่วยงานภาคีได้กล่าวสุนทรพจน์ โดย รศ. ดร.วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย หัวหน้าโครงการและนักวิจัยอาวุโส มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กล่าวว่า early HTA เป็นแขนงใหม่ของงานวิจัย HTA ซึ่งหลายประเทศเริ่มให้ความสนใจ ปัจจุบันมีองค์กรที่ทำงานด้าน early HTA อีกเพียง 2 แห่งทั่วโลก และในฐานะองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านงานวิจัย HTA มูลนิธิฯ ถือเป็นเกียรติที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการบุกเบิกการทำงานด้าน early HTA ในภูมิภาคเอเชีย เพื่อเสริมศักยภาพการพัฒนานวัตกรรมสุขภาพให้สามารถนำนวัตกรรมไปต่อยอดใช้ได้จริง ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ เพื่อการนี้ มูลนิธิฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ จัดตั้งทีมงาน Medical Innovation Development and Assessment Support หรือ MIDAS ภายใต้มูลนิธิฯ โดยทีมงานนี้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในด้าน early HTA และจะมุ่งมั่นทำงานวิจัยเพื่อให้ข้อมูลสนับสนุนผู้ผลิตนวัตกรรม เพื่อให้มีโอกาสสำเร็จสูงสุดต่อไป
ศาสตราจารย์เตียว อิ๊กอิง (Teo Yik Ying) คณบดีสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ซอว์สวีฮก กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับมิตรและพันธมิตรในประเทศไทย โดยเฉพาะการจัดตั้งฝ่าย MIDAS ซึ่งนับว่าเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความมั่นใจว่านวัตกรรมทางการแพทย์รูปแบบใหม่ ๆ จะได้รับการประเมินอย่างเหมาะสมในด้านต้นทุนและผลประโยชน์ แม้กระทั่งก่อนที่เทคโนโลยีจะได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์เพื่อการใช้งานจริง โดยฝ่ายนี้ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขชั้นนำจากประเทศไทยและสิงคโปร์ในการทำงานร่วมกันเพื่อมุ่งสู่ความเสมอภาค ประสิทธิภาพ และความยั่งยืนในระบบสุขภาพที่มีความรับผิดชอบและพร้อมก้าวไปข้างหน้า
ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. มีบทบาทในการเก็บ รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการบริการสาธารณสุข ตลอดจนการสร้างการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐานให้กับประชาชน และการบริหารจัดการกองทุนที่รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการบริการสาธารณสุขให้แก่หน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการภายใต้สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น การประเมินเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มความคุ้มค่าและประสิทธิภาพของสิทธิประโยชน์ สปสช. จึงยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในครั้งนี้ และจะให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมไปถึงการผลักดันเข้าสู่สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้ง 5 หน่วยงานจะร่วมกันส่งเสริมการประเมินเทคโนโลยีในระยะการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ โดยจะใช้จุดแข็งของทั้งห้าหน่วยงานมาร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยและประชาชนไทยต่อไป
ดร. จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานในกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) TCELS มีพันธกิจในการขับเคลื่อนนวัตกรรม รวมถึงกระตุ้นและเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์และสุขภาพ โดยครอบคลุมตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรค อีกทั้งสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยและนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ให้เชื่อมโยงสู่เชิงพาณิชย์ด้วยการร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมหลักที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม และจากบทบาทของ TCELS ในการเป็นหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพในช่วงปลายน้ำ ความร่วมมือด้าน early HTA ในครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยให้ TCELS มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และมีความมั่นใจในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ผ่านการประเมินในระยะเริ่มต้นมาก่อนแล้ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดสรรงบประมาณวิจัยทางด้านการแพทย์และสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการส่งเสริมและขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ การพัฒนานโยบายสาธารณะ ตลอดจนสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน ปัจจุบัน งบประมาณลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ก่อนออกสู่ตลาดมีมูลค่ามาก ซึ่งการประเมินความคุ้มค่าของเทคโนโลยีด้านสุขภาพในปัจจุบันเป็นการประเมินหลังจากที่ผลิตภัณฑ์ได้ออกสู่ตลาดแล้ว และหากผลการประเมินออกมาไม่ดี เท่ากับว่าสูญเสียงบประมาณที่ลงทุนไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากมีเครื่องมือที่จะมาช่วยในการประเมินความคุ้มค่าของเทคโนโลยีในช่วงต้นของการลงทุนวิจัยและพัฒนา จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงของภาครัฐและเอกชนในการลงทุนการวิจัย และช่วยเพิ่มความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น สกสว. จึงยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือด้าน early HTA ในครั้งนี้ เพราะจะเป็นประโยชน์ในการช่วยภาครัฐและเอกชนตัดสินใจเรื่องการลงทุนในอนาคต
ด้วยการรวบรวมความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ทั้งด้านนวัตกรรม นโยบายด้านสุขภาพ และการวิจัยและประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพให้เป็นหนึ่งเดียว ประกอบกับความมุ่งมั่นและเป้าหมายร่วมกันที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในแวดวงนวัตกรรมทางการแพทย์และระบบการรักษาพยาบาล ทั้ง 5 หน่วยงานเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือด้านการจัดลำดับความสำคัญและการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในระยะพัฒนานวัตกรรม จะช่วยลดความเสี่ยงของการพัฒนานวัตกรรม ช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการเข้าสู่ตลาดและการบรรจุนวัตกรรมใหม่ในชุดสิทธิประโยชน์ นวัตกรรมในท้องตลาดจะมีราคาที่เหมาะสมมากขึ้น ช่วยประหยัดงบประมาณภาครัฐ อีกทั้งยังจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมจนเป็นที่ประจักษ์ชัดได้อย่างแน่นอน