ขนมหวานต่าง ๆ โดยเฉพาะเบเกอรี่ เป็นอาหารหวานของโปรดของใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะสุภาพสตรีในยุคปัจจุบัน รวมทั้งสุภาพบุรุษด้วย เปรียบเสมือนยาชโลมจิตใจเป็นวิธีการผ่อนคลายอารมณ์ ลดความเครียด มีความสุขได้ง่าย ใช้ต้นทุนทางเวลาต่ำ เพราะสามารถรับประทานได้โดยทั่วไป บทความให้ความรู้โดย พญ.พัชรี สุธีปกรณ์ชัย แพทย์ตรวจสุขภาพ ประจำศูนย์ตรวจสุขภาพ ผ่านการอบรมหลักสูตรอาชีวเวชศาสตร์พื้นฐาน ศูนย์ตรวจสุขภาพ (Premium Check Up Center) โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง รับประทานเบเกอรี่อย่างไร ไม่เสียสุขภาพ ซึ่งจะเป็นการดีหรือไม่ ถ้าจะมีความสุขจากการรับประทานเบเกอรี่ โดยที่ไม่ส่งผลต่อการเกิดโรคในอนาคต เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ เป็นต้น
- แนวทางในการปฏิบัติตัวในการเลือกรับประทาน อย่างเหมาะสมเพื่อสุขภาพที่ดี มีดังนี้
- สารอาหารประเภทโปรตีน 10-15 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่ได้รับทั้งหมด
- สารอาหารประเภทไขมัน 20-25 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่ได้รับทั้งหมด
- สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต 60-70 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่ได้รับทั้งหมด
- วิตามินต่าง ๆ และแร่ธาตุต่าง ๆ เพียงพอ
- กากอาหารเพียงพอเพื่อช่วยในการขับถ่าย
- ใช้แป้งจากข้าวไรซ์เบอรี่ ซึ่งเป็นแป้งกลูเตนฟรี ทดแทนแป้งสาลี
- ใช้แป้งมะพร้าว ซึ่งให้พลังงานต่ำ
- ใช้แป้งบัควีท (Buckwheat) ให้โปรตีนสูง
- สารให้ความหวาน อาจทดแทนด้วยหญ้าหวานหรือการใช้น้ำตาล ไม่ขัดสี
- ผลิตภัณฑ์ไขมันเลือกใช้เนยแท้ ซึ่งเป็นไขมันจากสัตว์ หลีกเลี่ยงการใช้เนยเทียม (มาร์การีน) เนยขาว (ช็อตเทนนิ่ง) ที่มีไขมันทรานส์สูงซึ่งเป็นกรดไขมันที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยจะไปเพิ่มไขมันไม่ดีในเลือด(LDL) และลดไขมันที่ดีในเลือด (HDL) เพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
นอกจากนี้ในปัจจุบันเป็นยุคที่กระแสด้านสุขภาพมาแรง การใช้แป้งต้านทานการย่อยหรือแป้งทนย่อย (Resistant Starch) มาเป็นวัตถุดิบช่วยให้ผู้บริโภค ไม่ต้องเปลี่ยนวิถีของการรับประทานมากนัก เพราะเป็นแป้งที่สามารถต้านทานการถูกย่อยด้วยเอนไซม์ในระบบทางเดินอาหารตอนต้น ซึ่งจะไม่ถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็ก เมื่อไม่ถูกดูดซึม จึงทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานและผู้มีปัญหาด้านสุขภาพได้ดีขึ้น
และเมื่อแป้งทนย่อยเดินทางไปถึงลำไส้ใหญ่ ยังเป็นแหล่งอาหารสำหรับจุลินทรีย์กลุ่มที่ดีต่อสุขภาพของคนเราได้อีกด้วย ต่อมาเมื่อถูกย่อยโดยจุลินทรีย์กลุ่มที่มีประโยชน์กับร่างกายในลำไส้ ใหญ่ ก็ยังให้ผลผลิตออกมาเป็นกรดไขมันสายสั้น เช่น อะซิเตต (C2) โพรพิโอเนต (C3) และบิวไทเรต (C4) ซึ่งดีต่อสุขภาพ สรุปแล้วแป้งทนย่อยด้วยเอนไซม์นั้นถือเป็นแป้งสตาร์ชที่ให้พลังงานต่ำ จึงมีคุณสมบัติเทียบได้กับกากใยอาหาร (Food Fiber)
อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์จากการใช้ชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ ในแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกัน จึงควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นระยะ เพื่อประเมินสถานะทางสุขภาพ เช่น ดัชนีมวลกาย (BMI) ให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม
สิ่งสำคัญควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting Blood Sugar) ระดับไขมันในเลือด คอเลสเตอรอล (Cholesterol) ไขมันชนิดไม่ดี (LDL) ไขมันชนิดดี (HDL) ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เป็นต้น เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปปรับใช้ในการปฏิบัติตัวให้มีสุขภาพที่ดีต่อไป
"โรงพยาบาลนวเวช" มุ่งมั่นให้บริการทางการแพทย์ที่ดี และเข้าถึงง่าย (Accessible Quality Healthcare) พร้อมดูแลสุขภาพของทุกคนอย่างเข้าอกเข้าใจ ด้วยบริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมทุกช่วงวัย และทีมแพทย์เฉพาะทาง หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์ตรวจสุขภาพ (Premium Check Up Center) โรงพยาบาลนวเวช โทร. 02 483 9999 I Line: @navavej I www.navavej.com