กรมโยธาฯ เผยมาตรการรับมือแผ่นดินไหวทั่วประเทศ มั่นใจอาคารสาธารณะแข็งแรง ปลอดภัยรับแรงแผ่นดินไหวได้
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยถึงกรณีเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ว่า ตามที่ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวบริเวณนอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ขนาด 6.0 ความลึก 10 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ อ.พบพระ จ.ตาก ระยะทางประมาณ 289 กิโลเมตร ส่งผลทำให้ผู้ที่อยู่ในอาคารในพื้นที่กรุงเทพมหานครและบริเวณใกล้เคียงรู้สึกถึงการสั่นไหวของอาคารได้ ทำให้เกิดข้อกังวลต่อประชาชนถึงความมั่นคงแข็งแรงของอาคารเมื่อต้องเผชิญแรงสั่นสะเทือนในลักษณะดังกล่าว ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจและคลายข้อกังวลต่อประเด็นดังกล่าวนั้น กรมโยธาธิการและผังเมืองในฐานะหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยเกี่ยวกับการก่อสร้างในประเทศไทย มีมาตรการรองรับมือกับแผ่นดินไหว ดังนี้ 1.กฎหมายที่ใช้ควบคุมอาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวต้องออกแบบรองรับแรงแผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นได้ มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยเริ่มควบคุมในพื้นที่ 10 จังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันตกที่อยู่ใกล้แนวรอยเลื่อนที่มีพลัง และได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันคือ "กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564" ควบคุมพื้นที่ทั้งหมด 43 จังหวัด และ 17 ประเภทอาคาร โดยมีพื้นที่ควบคุม มีดังนี้
"บริเวณที่ 1" เป็นบริเวณหรือพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ตรัง นครพนม นครศรีธรรมราช บึงกาฬ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก เพชรบุรี เลย สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี และหนองคาย (รวม 14 จังหวัด)"บริเวณที่ 2" เสี่ยงภัยในระดับปานกลาง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กำแพงเพชร ชัยนาท นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พังงา ภูเก็ต ระนอง ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี และอุทัยธานี (รวม 17 จังหวัด)"บริเวณที่ 3" เสี่ยงภัยในระดับสูง ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย และอุตรดิตถ์ (รวม 12 จังหวัด)
นอกจากนี้อาคารที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ควบคุมตามกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2564 ประกอบด้วย อาคารที่จำเป็นต่อการช่วยเหลือและบรรเทาภัยหลังเกิดแผ่นดินไหว ได้แก่ โรงพยาบาล สถานีดับเพลิง อาคารศูนย์บรรเทาสาธารณภัย อาคารศูนย์สื่อสาร ท่าอากาศยาน โรงไฟฟ้า หรือโรงผลิตและเก็บน้ำประปา สถานที่เก็บวัตถุอันตรายประเภทวัตถุระเบิดได้ วัตถุไวไฟ วัตถุมีพิษ หรือวัตถุกัมมันตรังสี อาคารสาธารณะ โรงมหรสพ หอประชุม ศาสนสถาน สนามกีฬา อัฒจันทร์ สถานีขนส่ง สถานบริการ หรือท่าจอดเรือ ตั้งแต่ 600 ตร.ม. ขึ้นไป หอศิลป์ พิพิธภัณฑสถาน หรือสถานศึกษา ตั้งแต่ 1,000 ตร.ม. ขึ้นไป หอสมุด ตั้งแต่ 1,000 ตร.ม. ขึ้นไป ตลาด ห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้า ตั้งแต่ 1,500 ตร.ม. ขึ้นไป โรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารชุด หรือหอพัก ที่มีพื้นที่อาคารตั้งแต่ 4,000 ตร.ม. ขึ้นไป อาคารจอดรถที่มีพื้นที่อาคารตั้งแต่ 4,000 ตร.ม. ขึ้นไป สถานรับเลี้ยงเด็กอ่อน/ดูแลผู้สูงอายุ (ที่มีพื้นที่อาคารตั้งแต่ 300 ตร.ม. ขึ้นไป) เรือนจำตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 10 ม. หรือ 3 ชั้นขึ้นไป (15 ม. หรือ 5 ชั้นขึ้นไป) สะพานหรือทางยกระดับที่มีช่วงตอม่อยาวตั้งแต่ 5 ม. (10 ม.) ขึ้นไป รวมถึงอาคารควบคุมการจราจร อุโมงค์ที่ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่ง เขื่อนเก็บกักน้ำ เขื่อนทดน้ำ หรือฝายทดน้ำ ที่มีความสูงตั้งแต่ 10 ม. ขึ้นไปรวมถึงอาคารบังคับหรือควบคุมน้ำ (12/--) อาคารอยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ที่ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน เครื่องเล่นตามกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมเครื่องเล่นที่โครงสร้างมีความสูงตั้งแต่ 10 ม. (15 ม.) ขึ้นไป
2.การดำเนินการกับอาคารที่ก่อสร้างก่อนที่จะมีกฎหมายว่าด้วยการออกแบบอาคารเพื่อต้านทานแรงแผ่นดินไหว กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ออก "กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตดัดแปลงอาคารเพื่อเสริมความมั่นคงแข็งแรงของอาคารให้สามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว พ.ศ. 2555" เพื่อให้อาคารดังกล่าวสามารถดำเนินการเสริมกำลังโครงสร้างอาคารได้ โดยไม่ติดอุปสรรคให้เรื่องของข้อกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน
3.กรณีอาคารที่ไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับของกฎกระทรวงว่าด้วยการออกแบบอาคารเพื่อต้านทานแรงแผ่นดินไหว กรมโยธาธิการและผังเมืองได้มีการจัดทำมาตรฐานและคู่มือ เช่น มาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว มยผ.1301/1302-61 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) และคู่มือการก่อสร้างอาคารขนาดเล็กในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว เพื่อให้เจ้าของอาคารสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการออกแบบหรือเสริมกำลังโครงสร้างอาคารให้มีความแข็งแรงเพียงพอในการต้านทานแผ่นดินไหวได้
4.ข้อแนะนำสำหรับเจ้าของอาคารเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหว เจ้าของอาคารควรมีการตรวจสอบสภาพโครงสร้างอาคารเบื้องต้นว่ามีการเสื่อมสภาพหรือมีความเสียหายหรือไม่ ถ้ามีควรพิจารณาให้วิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร เพื่อจัดทำแผนซ่อมแซมหรือเสริมกำลังโครงสร้างให้มีความปลอดภัยไม่ให้อาคารเกิดพังถล่มเสียหายเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
การดำเนินการตามภารกิจของกรมโยธาธิการและผังเมืองเพื่อรับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหว กรมฯได้ดำเนินการครบถ้วนอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อให้อาคารในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวมีความปลอดภัย ตั้งแต่ดำเนินการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รวมถึงได้จัดทำมาตรฐานและคู่มือเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของประเทศไทย เพื่ออาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวมีความมั่นคงแข็งแรง ก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน