เนื่องจากปัจจุบันกระแสการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบำรุงผิวเป็นที่นิยมมากขึ้น จึงมีโอกาสการเกิดผื่นแพ้สัมผัสจากส่วนประกอบต่างๆ ได้มากขึ้น การพัฒนาปรับปรุงชุดตรวจ (patch test series) เพื่อสืบค้นหาสารต้นเหตุจึงมีความจำเป็นและต้องปรับปรุงให้ทันสมัยตลอดเวลา
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวรัญญา บุญชัย หัวหน้าภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอาจารย์แพทย์นักวิจัยจาก "โจทย์สัมผัสจริง" จากการรักษาผู้ป่วยมานานกว่า 3 ทศวรรษ จนสามารถผลักดันให้เกิด 2 ผลงานสิทธิบัตรด้านการรักษาโรคผื่นแพ้สัมผัส อันเป็นลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล
โดยผลงานสร้างชื่อดังกล่าว ได้แก่ การสร้างฐานข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลจากสารก่อแพ้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางภายในประเทศที่สามารถสืบค้นได้มากถึงเกือบ 7,000 รายการ และการผลิตสารทดสอบผื่นแพ้สัมผัสแบบปิดไรฝุ่นโดยร่วมกับศูนย์วิจัยไรฝุ่น ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
และเมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวรัญญา บุญชัย มีผลงานซึ่งนับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล จากการได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการระดับ Top 1% ของโลก "British Journal Dermatology" สหราชอาณาจักร ที่ได้รับเชิญให้เป็นตัวแทนของอาจารย์แพทย์โรคผิวหนังผู้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์จากประเทศไทยร่วมแสดงทัศนะเกี่ยวกับวิธีการทดสอบโรคผื่นแพ้สัมผัส (Contact Dermatitis) "What should be in the facial patch testing series for 2020?"
ซึ่งถึงแม้ผื่นแพ้สัมผัสไม่ได้เป็นโรคติดต่อ แต่ก็สร้างความทุกข์ใจ และสูญเสียงบประมาณในการรักษาที่ไม่อาจประเมินได้กับผู้ป่วย หากไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างตรงจุด
โดย ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวรัญญา บุญชัย ได้ให้ข้อมูลถึงข้อจำกัดของการทดสอบโรคผื่นแพ้สัมผัส (Contact Dermatitis) ที่ผ่านมาของแต่ละประเทศว่า บางชุดทดสอบ"ยังไม่มีมาตรฐานร่วม" และใช้ชุดทดสอบที่แตกต่างกันไปตามสภาพปัญหาของผู้ป่วยในแต่ละประเทศ ซึ่งแนวทางการรักษาที่สำคัญขึ้นอยู่กับข้อมูลจากการ "ซักถามอาการ" เพื่อสืบหา "สาเหตุของการแพ้"
โดยทั่วไปโรคผื่นแพ้สัมผัส (Contact Dermatitis) สามารถเกิดขึ้นได้เกือบทุกส่วนของร่างกาย อาจเกิดจากการระคายเคือง หรือ "แพ้" เมื่อต้องสัมผัสกับวัตถุหรือสารเคมีจนแสดงอาการผื่นแดงคัน
การทำทดสอบ patch test เป็นการพยายามช่วยผู้ป่วยหาสาเหตุผื่นแพ้สัมผัส ที่สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้ได้ ซึ่งที่คลินิกผื่นแพ้สัมผัส โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเพียงไม่กี่แห่งในประเทศที่สามารถทำทดสอบได้อย่างครอบคลุม
ซึ่งในการรักษาโรคผื่นแพ้สัมผัส (Contact Dermatitis) จำเป็นต้องทำทดสอบฯ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคผิวหนัง โดยผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลการแพ้ตามความเป็นจริง เพื่อแพทย์จะได้ให้คำแนะนำ และสั่งยาตามอาการได้อย่างถูกต้อง
การวิจัยด้านโรคผื่นแพ้สัมผัส (Contact Dermatitis) อย่างต่อเนื่องที่ผ่านมามากกว่า 30 ปีของภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล ที่อาจกล่าวได้ว่ามีจำนวนผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติมากที่สุดในประเทศไทย
อาการผื่นแพ้สัมผัสที่เรื้อรังสามารถบรรเทาได้ เพียง "ให้เวลากับตัวเอง" ในการตั้งคำถามถึง "สาเหตุ" ที่ทำให้เกิดอาการแพ้ดังกล่าว เพียง "หยุด" ใช้เครื่องสำอางที่ไม่แน่ใจอาการอาจหายเองได้โดยไม่ต้องพบแพทย์ หรืออาจช่วย"ตัดวงจร" และจำนวนครั้งในการรักษา ตลอดจนช่วยโลกประหยัดทรัพยากรได้ต่อไป