สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) เตือนประชาชน ช่วงหน้าฝน ระวังอันตรายจากเห็ดพิษ หากเจอเห็ดไม่รู้จัก ไม่เก็บหรือซื้อมาปรุงอาหารรับประทาน เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
หลังจากฝนตก จะมีการเจริญเติบโตของเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติ ประชาชนมักนิยมเก็บเห็ดป่ามาขายหรือนำมาปรุงอาหาร ซึ่งในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษเป็นประจำ เนื่องจากเห็ดป่ามีทั้งเห็ดที่รับประทานได้ และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้
สำหรับเห็ดพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ เช่น 1) เห็ดระโงกพิษ หรือบางที่เรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก เห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว ที่กินได้ แต่มีลักษณะต่างกัน คือ เห็ดระโงกพิษ รอบขอบหมวกไม่มีรอยขีด ผิวก้านเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ถุงหุ้มโคนรูปถ้วยแนบติดกับโคนก้าน เมื่อผ่าก้านดูจะมีลักษณะตัน 2) เห็ดถ่านเลือด มีลักษณะคล้ายกับเห็ดถ่านเล็กที่กินได้ ขนาดดอกจะเล็กกว่าและไม่มีน้ำยางสีแดงส้ม 3) เห็ดเมือกไครเหลือง ที่ประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า 4) เห็ดหมวกจีน มีความคล้ายกับเห็ดโคนที่กินได้ เป็นต้น
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึง อาการหลังจากกินเห็ดพิษแล้ว จะทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือ ถ่ายอุจจาระเหลว เน้นย้ำ อย่าล้วงคอหรือกินไข่ขาวดิบเพื่อกระตุ้นให้อาเจียน เพราะอาจทำให้เกิดแผลในคอ และการกินไข่ขาวดิบจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยท้องเสียเพิ่มหรือติดเชื้อได้ และไม่ควรซื้อยากินเองหรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน จะต้องรีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการกินเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่างเห็ดพิษไปด้วย (หากยังเหลืออยู่) และควรให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือนัดติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเห็ดพิษชนิดร้ายแรงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนในช่วงวันแรก แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงตามมา คือ การทำงานของตับ และไตล้มเหลว อาจทำให้เสียชีวิตได้
นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเน้นย้ำพี่น้องประชาชน "เห็ดพิษ" เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต "เห็ด ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน" นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดร่วมกับการดื่มสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422