สยามพารากอน ตอกย้ำความเป็นโกลบอลเดสติเนชั่น จุดหมายปลายทางที่ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกยกให้เป็นหมุดหมายอันดับหนึ่งในใจที่ต้องมาเยือน และยังเป็นเวทีระดับโลกที่นำเสนอสุดยอดประสบการณ์เหนือความคาดหมาย ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, Sumo Experience (ซูโม่ เอ็กซ์พีเรียนซ์) สำนักสืบทอดและเผยแพร่วัฒนธรรมซูโม่จากญี่ปุ่น และ Japan Airlines (เจแปน แอร์ไลน์) สายการบินแห่งชาติญี่ปุ่น ร่วมฉลองครบรอบ 136 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตอันแน่นแฟ้นระหว่างไทยและญี่ปุ่น ชวนสัมผัสจิตวิญญาณอันทรงพลังของซูโม่ กีฬาประจำชาติญี่ปุ่นที่สืบทอดมายาวนานกว่า 2,000 ปี กับการแสดงแข่งขันซูโม่ส่งตรงจากแดนอาทิตย์อุทัย ครั้งแรกในประเทศไทย นับเป็นโอกาสพิเศษที่หาชมได้ยาก ในงาน "Siam Paragon The Wondrous Japan Heritage" โดยเปิดให้ชมฟรี ระหว่างวันที่ 6-9 กรกฎาคม 2566 ณ พาร์ค พารากอน สยามพารากอน
สำหรับไฮไลท์ของงาน พบกับการสาธิตการแข่งขันซูโม่ ครั้งแรกในประเทศไทย โดยอดีตนักกีฬาซูโม่มืออาชีพ ระดับ "โคมุสุบิ" (Komusubi) ผู้รั้งลำดับขั้นที่ 4 จาก 10 ซึ่งถือเป็นลำดับขั้นสูงที่เรียกว่ามาคูอูจิ (Makuuchi) ได้แก่ โจโคริว (Jokoryu) และนักกีฬาระดับ "มาคุชิตะ" ได้แก่ บุงโกะนิชิกิ (BUNGO NISHIKI), คุมะโก (Kumago) และ โคโตะโอโทริ (Kotootori) ซึ่งนักซูโม่นับเป็นทูตวัฒนธรรมคนสำคัญ ผู้ร่วมเผยแพร่จิตวิญญาณแห่งกีฬาประจำชาติชนิดนี้ไปทั่วโลก ซูโม่ถือเป็นกีฬาประจำชาติที่เก่าแก่ที่สุด และยังคงได้รับความนิยมอย่างมากจวบจนปัจจุบัน ในแต่ละปีมีชาวญี่ปุ่นรวมถึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกร่วมชมการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ซูโม่ประจำปีที่จัดขึ้นถึง 6 ทัวร์นาเมนต์รวมกว่า 800,000 คน อีกทั้งผู้ชมทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลกที่ชมการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติอย่าง NHK อีกนับไม่ถ้วน
ภายในงานยังจัดให้มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่น ท่ามกลางบรรยากาศเทศกาลฉลองฤดูร้อนในแบบฉบับญี่ปุ่น ได้แก่ การแสดงกลองไทโกะ อันเร้าใจ, ระบำพัดญี่ปุ่น และโยซาโค่ย (Yosakoi) สีสันแห่งเทศกาลต้อนรับสู่ฤดูร้อน และระบำพัดญี่ปุ่น โดยสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังสามารถร่วมกิจกรรมเวิร์คชอปต่างๆ ได้แก่ ศิลปะการพับกระดาษแบบโอริกามิ และ ฝึกสมาธิผ่านการปั้นตุ๊กตาดารุมะ ด้วยศิลปะการปั้นดิน อีกทั้งเพลิดเพลินกับขนมและของฝากจากญี่ปุ่น พร้อมเอาใจคนรักการท่องเที่ยว ด้วยโปรโมชั่นทริป ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม "Trip To Japan" หลากหลายจาก Japan Airlines ให้เลือกปักหมุด นอกจากนี้ยังมี gashapon art toy คอลเลคชั่นสุดเอ็กซ์คลูซีฟที่รังสรรค์ขึ้นสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ จากฝีมือกลุ่มศิลปินไทยรุ่นใหม่ SalaArte (ศาลาอันเต) กับ กาชาปองแฮนด์เมดคอลเลคชั่นซูโม่ และคอลเลคชั่น Shonen (โชเน็ง หรือ การ์ตูนญี่ปุ่นที่มีวัยรุ่นชายเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก) ผสมผสานจินตนาการและแรงบันดาลใจจาก ทั้งวัฒนธรรมญี่ปุ่นและไทย
นางธณพร ตันติยานนท์ ผู้บริหารหน่วยธุรกิจ ศูนย์การค้าสยามพารากอน กล่าวว่า "สยามพารากอนมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่ได้สร้างสรรค์งาน "Siam Paragon The Wondrous Japan Heritage" ขึ้นเพื่อฉลองวาระสำคัญของประเทศไทยและญี่ปุ่น ในโอกาสครบรอบ 136 ปี ในปี 2566 นี้ ในฐานะโกลบอลเดสติเนชั่น จุดหมายปลายทางที่ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกยกให้เป็นหมุดหมายอันดับหนึ่งในใจที่ต้องมาเยือน และยังเป็นเวทีระดับโลกที่นำเสนอสุดยอดประสบการณ์ระดับเวิลด์คลาส เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งได้ทำหน้าที่ตัวแทนของประเทศไทย ในการส่งเสริมและเผยแพร่วิถีแห่งญี่ปุ่น ผ่านหลากหลายแง่มุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงซูโม่ ที่ส่งตรงจากญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งหาชมได้ยากยิ่ง นอกจากนี้ภายในงานยังมีศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นอื่นๆอีกมากมาย นับเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมญี่ปุ่นให้แพร่หลายในวงกว้างยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศ"
ร่วมสัมผัสมิติความงดงามของศิลปวัฒนธรรมแห่งแดนอาทิตย์อุทัย พร้อมฉลองครบรอบ 136 ปี ความสัมพันธ์ไทย - ญี่ปุ่น ได้ที่งาน "Siam Paragon The Wondrous Japan Heritage" ระหว่างวันที่ 6-9 กรกฏาคม 2566 ณ พาร์ค พารากอน สยามพารากอน โดยเปิดให้เข้าชมฟรีตลอดวัน ตั้งแต่เวลา 10.30 - 20.30 น.
สำหรับผู้สนใจชมการแสดงซูโม่, การแสดงกลองไทโกะ และ การเต้นรำโยซาโกอิ สามารถ walk-in หรือสำรองที่นั่งล่วงหน้าผ่านแอพพลิเคชั่น ONESIAM SuperAPP ในวันที่ 5 กรกฏาคม 2566 (ที่นั่งมีจำนวนจำกัด 300 ที่นั่งต่อรอบ) โดยจะจัดแสดงวันละ 2 รอบ รอบละ 90 นาที ได้แก่ 14.00 น. และ 17.00 น. และสามารถเข้าร่วมเวิร์คชอปพับกระดาษโอริกามิได้ ในเวลา 13.00 -14.00 น. และ เวิร์คชอปปั้นตุ๊กตาดารุมะในเวลา 14.00 -15.00 น.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร.02-610-8000 หรือติดตาม Facebook: Siam Paragon
เกี่ยวกับซูโม่
ซูโม่ เป็นศิลปะการป้องกันตัวที่สืบทอดกันมายาวนานกว่า 2000 ปี และเป็นกีฬาประจำชาติที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น ที่ยังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจวบจนปัจจุบัน เดิมจัดขึ้นเพื่อประกอบพิธีกรรมบวงสรวงเทพเจ้า จนในสมัยเอโดะ จึงเริ่มมีการจัดแข่งขันซูโม่ขึ้น ปัจจุบันมีการจัดแข่งขันซูโม่กว่า 6 ทัวร์นาเมนต์ต่อปี ในโตเกียว, โอซาก้า, นาโกย่า และฟุกุโอกะ โดยแต่ละทัวร์นาเมนท์จะกินเวลา 15 วัน
กติกาการแข่งขันซูโม่คือ นักกีฬาซูโม่สองคนทำการต่อสู้ภายในสังเวียนวงกลม โดยใช้เทคนิคการต่อสู้ต่างๆในการเอาขนะคู่ต่อสู้ด้วยการทำให้อีกฝ่ายหลุดออกจากสังเวียน หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายแตะพื้น นอกจากฝ่าเท้า สังเวียนในการแข่งขันยกพื้นสูงทำจากดิน ล้อมด้วย ฟางข้าววงกลมเรียกว่า โดเฮียว (dohyo)
ซูโม่จะมีลำดับขั้นที่เรียกว่า Banzuke ซึ่งประกอบด้วยทั้งหมด 10 ลำดับ ไล่เรียงจากลำดับขั้นสูงสุดคือ Yokozuna, Ozeki, Sekiwake, Komusubi, Maegashira ซึ่งจัดอยู่ในหมวดระดับสูง หรือ มาคูอูจิ (Makuuchi) ถัดลงไปจะเป็น Juryo, Makushita, Sandame, Jonidan และ Jonokuchi ตามลำดับ
โดยก่อนการแข่งขัน จะมีพิธีกรรมต่างๆ อาทิ การโรยเกลือลงบนสนามแข่งเพื่อกำจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย และจะกระทืบเท้าและแยกขาออกจากกันเพื่อเตรียมการต่อสู้ โดยนักซูโม่จะไว้ผมมวยตามแบบดั้งเดิมตามลำดับขั้น และแต่งกายด้วยผ้าเตี่ยวตามแบบโบราณที่เรียกว่ามาวาชิ (Mawashi) และยังมีการสวมผ้าไหมยาวระดับเข่า ประดับประดาสวยงาม ที่เรียกว่า เคโซมาวาชิ ( Keshou Mawashi) ซึ่งมีน้ำหนึกถึงกว่า 10 กิโลกรัมทีเดียว การเป็นนักกีฬาซูโม่ คือวิถีชีวิตแบบเฉพาะ ที่ต้องอาศัยการอุทิศตน การฝึกซ้อมอย่างคร่ำเคร่งและการปฏิบัติตามวินัยอย่างเคร่งครัด ถือเป็นอาชีพอันทรงเกียรติอย่างยิ่ง