มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) จัดแถลงความสำเร็จ ของความร่วมมือในเชิงวิชาการ ร่วมกับดีโหวต (D-vote) ผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการสำรวจความเห็นสาธารณะ ในการก่อตั้งศูนย์สำรวจความเห็นสาธารณะหรือสำนักโพล เพื่อนำเสนอผลคะแนนนิยมและประเมินจำนวนที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้ง 2566 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ โดยประชาชนให้ความสนใจและมีผู้มาใช้สิทธิมากที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ กกต. จัดการเลือกตั้งมา 7 ครั้ง โดยในส่วนของสถาบันวิชาการและสำนักโพล การจับสัญญานกระแสความนิยมในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งและการทำนายผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ถือเป็นความท้าทายสำหรับทุกสำนักโพล ที่แต่ละพรรคการเมืองต่างแข่งขันกันทั้งในด้านนโยบาย และการสื่อสารกับประชาชนอย่างเข้มข้น คะแนนความนิยมของแต่ละพรรคที่มีความผันผวน การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบใหม่ ความหลากหลายทางแนวคิด ฯลฯ
ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทางสำนักโพลฯ ได้มีการนำเทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาประยุกต์ใช้ อย่าง Blockchain, e-KYC, AI และกระบวนการด้าน Big Data ให้สามารถคัดกรองเสียงจริงหรือความเห็นจริงของประชาชน ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ สามารถเข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ รวดเร็ว โปร่งใส ด้วยกระบวนการที่มีประสิทธิภาพกว่ากระบวนการทำโพลแบบดั้งเดิม
โดยเมื่อเทียบกับผลเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจริง ผลโพลของเราถือว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งการที่สามารถในการจับสัญญานกระแสความนิยมที่มีความผันผวนได้อย่างทันท่วงที พร้อมนำเสนอให้กับสื่อมวลชนด้วยความถี่รายสัปดาห์ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ในขณะที่ผลประเมินจำนวนที่นั่งภายหลังปิดหีบเลือกตั้งก็มีค่าความแม่นยำเป็นลำดับต้นๆเมื่อเทียบกับผลประเมินจากสำนักโพลอื่นๆ ทาง SPU ต้องขอขอบคุณทุกความเห็นของประชาชนที่ส่งมาให้เรา จนสามารถนำเสนอผลต่าง ๆ ได้ดังที่ตั้งใจไว้ โดยเราจะมุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้คงความเป็นผู้นำด้านความแม่นยำ รวดเร็ว และสะท้อนเสียงจริงของประชาชน ให้ได้มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และผู้อำนวยการดีโหวตเผยว่า ทิศทางต่อไปของทางสำนักโพล คือการขยายบริการของเราให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาวิจัย และภาคประชาสังคม โดยมีทีมนักวิชาการจากทางมหาวิทยาลัยศรีปทุม ร่วมกับทีมที่ปรึกษาและปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์ มีผลงานเป็นที่ยอมรับในสาขาต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งด้วยเทคโนโลยีทันสมัยที่จะทำให้ผลและการดำเนินงานในส่วนต่าง ๆ มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งประกอบไปด้วยการวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ (Quantitative and Qualitative Research) การวิจัยตลาด (Market Research) การสำรวจ (Survey) และเฝ้าสังเกต (Monitor) ความนิยมหรือความพึงพอใจ และสำรวจในเชิงลึกถึงปัญหา สาเหตุ และข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของลูกค้า รวมถึงที่ปรึกษาการวางกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Strategy) และการบริหารองค์การแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Autonomous Organizations) เพื่อนำมาประกอบกลยุทธ์ทางธุรกิจ ไปจนถึงการพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ของลูกค้าและบุคลากรในองค์กรซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของทุกธุรกิจ
ต่อจากนั้นเป็นการเสวนาในหัวข้อ "ฟังเสียงให้ชัด เพื่อรู้จักและรักแบรนด์" โดย คุณสรกล อดุลยานนท์ (หนุ่มเมืองจันทร์) กล่าวว่า "ข้อมูล เป็นปัจจัยสำคัญของการทำธุรกิจ นอกจากผู้ประกอบการจะต้องมีข้อมูลในมือแล้ว ต้องมีความคิดเป็นศิลปะและมีเทคนิคการเล่าเรื่องด้วย ซึ่งความน่าเชื่อถือของผู้พูดจะสะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์ รวมถึงการที่เรารู้ข้อมูลของลูกค้าจะทำให้หากลุ่มเป้าหมายเจอ จนสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาธุรกิจในอนาคตได้" ในส่วนของ คุณธนา เธียรอัจฉริยะ กล่าวว่า "ทุกธุรกิจต้องฟังเสียงลูกค้า การทำแบบสำรวจในครั้งนี้ก็เช่นกัน มันคือการฟังเสียงของประชาชน ความสำเร็จของการทำโพลในครั้งนี้ สามารถปรับใช้ในธุรกิจได้ เพราะการฟังความคิดเห็นและความต้องการของลูกค้า จะช่วยให้เราสามารถทำการตลาดของสินค้าได้ดียิ่งขึ้น และแน่นอนว่า มีประโยชน์ต่อการสร้างยอดขาย รวมถึงผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือกับกระแสตอบรับ ทั้งดีและไม่ดีอยู่เสมอ หากเกิดกระแสด้านลบ ควรขอโทษอย่างจริงใจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า"