วันนี้เรียกว่าลบภาพจำราชการเดิมๆ ไปได้เลย เพราะนับตั้งแต่ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ เราเห็นภาพการทำงาน การให้บริการของหน่วยงานราชการเริ่มเปลี่ยนไป หลายหน่วยงานให้บริการผ่านระบบออนไลน์ ยกเลิกการใช้เอกสารแบบกระดาษ ทำให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็วขึ้น การสร้างจุดเปลี่ยนเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเคยจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ เบื้องหลังขับเคลื่อนโดย 4 หน่วยงานสำคัญ คือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่ในการกำหนดแนวทางปฏิบัติ การให้บริการ การติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภายใต้รายละเอียดกฎหมายที่ถูกต้อง ชัดเจน และครอบคลุม เพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัลได้อย่างไร้ข้อจำกัด
ในการผลักดันให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐทุกๆ ระดับ เปลี่ยนวิถีการทำงานเป็นดิจิทัลนั้น ทั้ง 4 หน่วยงาน ย่อมต้องปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะหน่วยงาน ETDA ที่มีบทบาทสำคัญเป็นทั้งผู้ร่วมขับเคลื่อน และหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ทั้งนี้ รายละเอียดของกฎหมายฉบับดังกล่าวจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่หน่วยงานรัฐ รวมถึงสัมพันธ์ต่อประชาชนอย่างไร ขณะที่บทบาทของ ETDA จะเข้าไปมีส่วนสำคัญโดยตรงในการช่วยยกระดับการทำงานหน่วยงานรัฐอย่างไรนั้น วันนี้มาอัปเดตไปพร้อมๆ กัน
- "พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์" ลดข้อจำกัด เร่งสปีด ราชการดิจิทัล
จุดประสงค์หลักของการทำ 'พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565' นี้คือ การปรับเปลี่ยนการทำงานและการให้บริการของหน่วยงานราชการในรูปแบบออนไลน์ ให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น เพื่อส่งต่อการให้บริการแก่ประชาชนได้ดีกว่าที่เคย และเมื่อระบบการทำงานของหน่วยงานราชการเปลี่ยนสู่ e-Government ได้อย่างไร้ข้อจำกัด ก็ย่อมส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ขณะเดียวกันกฎหมายดังกล่าว จะเข้ามาแก้ปัญหาให้หลายหน่วยงานราชการ ที่แม้ที่ผ่านมา มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องส่งเสริมความสะดวกค่อนข้างมากก็ตาม แต่เรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย ความชัดเจนของรายละเอียดยังไม่ครอบคลุมข้อระเบียบการปฏิบัติทางกฎหมายที่กว้างพอ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการใช้งาน
ยกตัวอย่าง 'การขอใบอนุญาต' ตั้งแต่ 'การขอ-การออก-การแสดง' โดยปีที่ผ่านมา แม้มีระเบียบแจ้งว่า คุณสามารถออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ได้แล้ว แต่ทว่า ระเบียบของบางหน่วยงานแจ้งว่า คุณต้องแสดงและติดใบอนุญาตให้เห็นในที่สาธารณะ นั่นแปลว่า คุณต้องติดในรูปแบบกระดาษ (Physical Paper) ซึ่งจะสังเกตุพบได้ตามร้านค้าหรือร้านโชห่วยบางแห่ง ที่จะยังมีการติดใบอนุญาตอยู่ หรือระเบียบบางแห่งแจ้งระบุลักษณะเฉพาะเลยว่า ต้องติดบนฝาผนังให้ชัดเจน เหล่านี้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายหน่วยงานราชการทำงานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างชะงัก เพราะไม่เปิดช่องทางให้ใช้แบบอิเล็กทรอนิกส์นั่นเอง
ดังนั้น จึงเป็นที่มาในการจัดทำ 'พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565' ที่มีจุดแข็งในรายละเอียดที่กว้างขึ้น แก้ปัญหาข้อจำกัดต่างๆ ตอบโจทย์การทำงานของหน่วยงานราชการทั่วประเทศ ซึ่งในรายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ จะมีการระบุหนึ่งในมาตราที่เกี่ยวกับรูปแบบการแสดง หรือให้ประชาชนเห็นเรื่องใบอนุญาตด้วยว่า คุณสามารถแสดงรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ต้องบอกแหล่งที่มา (Electronics Source)ได้โดยไม่จำเป็นต้องติดใบอนุญาตข้างฝาผนังอีกต่อไป รวมถึงเรื่องการขอเอกสารสำเนาบัตรประชาชนก็จะสามารถแสดงในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งหากทุกหน่วยงานราชการประยุกต์ใช้กฎหมายฉบับนี้ได้จำนวนมาก คาดว่า เรื่องการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐต่อประชาชนจะดีขึ้นอย่างมากทีเดียว
- เมื่อ พ.ร.บ.ประกาศใช้ หน่วยงานรัฐต้องปรับการทำงานเรื่องไหนบ้าง?
แม้หน่วยงานรัฐมีหลายเรื่องต้องปรับเปลี่ยน แต่หลักหัวใจกว้างๆ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่ต้องเร่งปรับก่อนเลย คือ 'หน่วยงานรัฐต้องรับเอกสารที่ประชาชนยื่นแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้' และ 'ต้องสามารถตอบกลับประชาชนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้' ถ้าประชาชนต้องการข้อมูลเอกสารรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ฉะนั้น หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องปรับตัวการทำงานในส่วนนี้อันดับแรกๆ โดยต้องศึกษาระเบียบกฏหมาย วิธีการใช้ภายในหน่วยงาน ซึ่งตัวอย่างที่ง่ายที่สุด คือ การใช้ระบบ e-Saraban หรือระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ในการรับรองการรับ ส่ง เซ็น และเก็บเอกสารทางออนไลน์ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ETDA มีการนำร่องใช้ระบบ e-Saraban ภายในหน่วยงานแล้ว รวมถึงเปิดให้หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ นำระบบดังกล่าวไปใช้ด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อลงรายละเอียดถึงแนวปฏิบัติ ใน พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 สามารถแบ่งได้ 3 ชุด ดังนี้ 1. แนวปฏิบัติสำหรับหน่วยงานขนาดเล็ก ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ยังไม่มีความพร้อมมากนักในด้านเทคโนโลยี 2. แนวปฏิบัติสำหรับหน่วยงานทั่วไประดับกลาง ซึ่งอาจจะมีขนาดใหญ่ขึ้นรวมถึงมีการติดต่อที่ซับซ้อนขึ้น และ 3. แนวปฏิบัติสำหรับหน่วยงานที่มีความพร้อมสูง มีความรู้เข้าใจในเชิง IT Operation และ IT Support ที่สูง นอกจากนี้ เมื่อเข้าสู่กระบวนการทำงานแล้ว จะมีกระบวนการโดยกว้าง 8 ข้อ ที่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องพิจารณาปรับให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ คือ 1. การให้ข้อมูล 2. การรับเอกสารต้องเป็นอิเล็กทรอนิกส์ 3. การตรวจสอบ กระบวนการพิจารณาภายในหน่วยงานรัฐต้องเป็นอิเล็กทรอนิกส์ 4. กระบวนการอนุมัติหรือการลงลายมือ ต้องเป็นอิเล็กทรอนิกส์ 5. การออกใบอนุญาติ ต้องเป็นอิเล็กทรอนิกส์ 6. การทำการชำระบริการ ต้องเป็น e-Payment 7. การนำส่งกลับข้อมูลให้ผู้ขอ ต้องเป็นอิเล็กทรอนิกส์ และ 8. การแสดงข้อมูล ต้องเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ยังสามารถศึกษารายละเอียดกระบวนการได้ที่เว็บไซต์ของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.)
- ETDA กับบทบาท "ผู้ร่วมกำหนดนโยบาย & ผู้ให้บริการ" สนับสนุนการใช้ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565
ในการทำงานขับเคลื่อน พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ร่วมกับ 3 หน่วยงานแกนสำคัญนั้น แต่ละหน่วยงานจะมีหน้าที่ที่รับผิดชอบแตกต่างกัน โดยสรุปสังเขป ได้ดังนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) รับทำหน้าที่เชิง Project Management เพื่อติดตามประสานงานกับหน่วยงานทั่วไป พร้อมให้แนวทางปฏิบัติ การให้บริการ ในการแก้ปัญหาทั้งหลายแก่หน่วยงานภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รับหน้าที่หลักเรื่องการทำกฏหมาย และรายละเอียดกฏหมาย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. ทำหน้าที่ไปช่วยแก้ปัญหาการทำงานแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงกำหนดแนวปฏิบัติ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้
ขณะที่ ETDA มีบทบาทหลัก แบ่งได้ 2 มุม เริ่มที่ มุมผู้กำหนดนโยบาย คือ ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานเพื่อสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ พร้อมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติ เช่น Digital ID หรือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) เป็นต้น และมุมผู้ให้บริการ เมื่อแนวปฏิบัติออกมาแล้ว จะใช้จริงใช้อย่างไร ETDA จึงมีการสนับสนุนเครื่องมือดิจิทัล ผ่าน 2 บริการหลักๆ ได้แก่
จะเห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทันต่อกระแสโลกดิจิทัล อย่างการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาทรานส์ฟอร์มระบบการทำงาน และพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจพร้อมมีทักษะทางดิจิทัลนั้น ได้เกิดขึ้นเพิ่มขึ้นต่อหลายภาคส่วนอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งความท้าทายของหน่วยงานราชการไทย เปลี่ยนสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันนั้น ยังคงมี โดยเฉพาะเรื่องกรอบความคิด (Mindset) ของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ที่ถ้าหากมองว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซับซ้อน ยุ่งยาก การทำงานแบบเดิมยังใช้งานได้อยู่นั้น ก็ย่อมส่งผลให้การเกิดขึ้นของระบบราชการอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปได้ยาก ฉะนั้น ETDA จึงต้องเดินหน้าสร้างความรู้ ความเข้าใจ ร่วมกับหน่วยงานพาร์ทเนอร์ ซึ่งหากปัญหากรอบความคิดถูกขจัดไปแล้ว ปัญหาด้านงบประมาณและเครื่องมือที่ไม่เพียงพอ ก็ย่อมได้รับการแก้ไขตามไปด้วย และหน่วยงานรัฐทั่วประเทศจะแตกต่างจากในอดีตอย่างแน่นอน
สามารถติดต่อข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.etda.or.th หรือ เพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand (https://www.facebook.com/ETDA.Thailand) รวมถึงทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของ ETDA Thailand