กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นหน่วยงานด้านช่างในสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีภารกิจ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการผังเมือง ด้านการพัฒนาเมือง ด้านการอาคาร และด้านการบริการด้านช่าง ซึ่งด้านการบริการด้านช่าง มุ่งให้บริการงานช่างทุกระดับ ในฐานะช่างของแผ่นดิน โดยให้บริการด้านการออกแบบอาคาร การทดสอบวัสดุและการให้คำปรึกษาด้านช่าง ซึ่งการทดสอบวัสดุนั้น กรมฯ ได้กำหนดให้เป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพของการทดสอบเพื่อหาคุณสมบัติของวัสดุที่จะนำมาใช้ในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ให้ขยายวงกว้างและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ด้วยตระหนักว่าการทดสอบวัสดุก่อสร้างเป็นกระบวนการสำคัญในการเลือกและตรวจสอบคุณภาพของวัสดุที่จะนำไปใช้ในงานก่อสร้างให้ตรงตามมาตรฐานที่มีการออกแบบและข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อให้งานก่อสร้างมีความมั่นคง แข็งแรง มีอายุการใช้งานยาวนาน มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้งาน ทั้งยังช่วยให้เกิดความปลอดภัย บรรเทาหรือลดพิบัติภัยจากการก่อสร้างที่ไม่มีคุณภาพให้ได้รับผลกระทบน้อยลง โดยการทดสอบวัสดุนั้น สามารถดำเนินการได้ทั้งก่อน ขณะดำเนินการ และหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ รวมทั้งสามารถทำการทดสอบคุณสมบัติของวัสดุ เพื่อประกอบการพิสูจน์ การวิเคราะห์สาเหตุความเสียหายของสิ่งก่อสร้างและเป็นการประเมิน เพื่อการปรับปรุงสิ่งก่อสร้างให้สามารถใช้งานต่อไปได้อีกด้วย ทั้งนี้ การดำเนินการทดสอบวัสดุของกรมฯ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานกรมโยธาธิการและผังเมือง (มยผ.) และมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กรมฯ เปิดให้บริการงานวิเคราะห์วิจัยและทดสอบวัสดุให้แก่ส่วนราชการของกรมโยธาธิการและผังเมือง หน่วยราชการอื่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นิติบุคคล และเอกชน มาอย่างต่อเนื่องและปี พ.ศ. 2554 ได้ดำเนินการจัดตั้งเป็น "ศูนย์ทดสอบวัสดุ" จำนวน 14 ศูนย์ ประกอบด้วย กองวิเคราะห์วิจัยและทดสอบวัสดุ กรมโยธาธิการและผังเมือง ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพมหานคร และในส่วนภูมิภาค จำนวน 13 จังหวัด ที่ตั้ง ณ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ซึ่งมีเครื่องมือ เครื่องทดสอบ ที่สามารถให้บริการทดสอบวัสดุก่อสร้างได้ถึง จำนวน 24 การทดสอบ ทั้งการทดสอบระดับพื้นฐานและการทดสอบที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งครอบคลุมการทดสอบวัสดุในงานก่อสร้างได้อย่างครบถ้วน และจัดตั้ง "หน่วยทดสอบวัสดุ" อีกจำนวน 63 จังหวัด ให้บริการทดสอบวัสดุก่อสร้าง จำนวน 11 การทดสอบ ซึ่งสามารถให้บริการทดสอบวัสดุก่อสร้างในระดับพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานการควบคุมการก่อสร้างทั่วไป โดยเปิดให้บริการทดสอบวัสดุในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2564 กรมฯ ได้ดำเนินงานโครงการยกระดับหน่วยทดสอบวัสดุ ให้เป็นศูนย์ทดสอบวัสดุทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการทดสอบวัสดุ โดยจัดหาเครื่องมือ เครื่องทดสอบเพิ่มเติมให้หน่วยทดสอบวัสดุเพื่อสามารถรองรับภารกิจงานทดสอบที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมสร้างเครือข่ายโยงครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อพัฒนางานทดสอบวัสดุก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด ปลอดภัย และเป็นไปตามมาตรฐานงานช่าง นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีการจัดหลักสูตรอบรมบุคลากรด้านช่าง เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนา และเพิ่มพูนศักยภาพบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ให้บริการงานวิเคราะห์ วิจัย และทดสอบวัสดุ ให้มีความรู้ ความชำนาญ สามารถปฏิบัติงานทดสอบวัสดุและออกใบรายงานผลการทดสอบได้อย่างมีมาตรฐานและสอดคล้องกันทั้งประเทศ และในอนาคต กรมฯ จะมีแผนในการพัฒนาระบบการเข้ารับบริการทดสอบวัสดุที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้ทันต่อความต้องการของผู้เข้ารับบริการต่อไป
ทั้งนี้ ขั้นตอนการทดสอบวัสดุ จะดำเนินการทดสอบวัสดุตามมาตรฐานกรมโยธาธิการและผังเมือง (มยผ.) หรือมาตรฐานอื่น ๆ ให้แล้วเสร็จ ตามระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 3 - 49 วัน ขึ้นอยู่กับประเภทของการทดสอบ เช่น การทดสอบแรงอัดของคอนกรีต การทดสอบแรงดึงของเหล็ก การทดสอบคุณสมบัติของดิน ทราย ลูกรัง หินคลุก หินใหญ่ การทดสอบความแน่นของวัสดุในสนาม การทดสอบลวดเหล็กเคลือบสังกะสี การทดสอบคุณสมบัติของแผ่นใยสังเคราะห์ การเจาะสำรวจชั้นดิน การทดสอบความสมบูรณ์ของเสาเข็ม โดยวิธี Seismic Test การทดสอบกำลังรับน้ำหนักบรรทุกของเสาเข็มแบบ Dynamic Load Test เป็นต้น สำหรับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ นิติบุคคล เอกชน และประชาชนทั่วไป สามารถขอรับบริการได้โดยทำหนังสือแจ้งความประสงค์ เอกสารข้อมูลรายละเอียดของวัสดุ ตัวอย่างวัสดุ พร้อมชำระค่าธรรมเนียมทดสอบการขอรับบริการตามวิธีการที่กำหนดได้ที่ศูนย์ทดสอบวัสดุต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่กองวิเคราะห์วิจัยและทดสอบวัสดุ กรมโยธาธิการและผังเมือง ถนนพระรามที่ 6 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 โทร. 0 2299 4430 หรือสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดทั่วประเทศ