อุปกรณ์ไม่สำคัญเท่าวิธีการใช้ ในนาทีฉุกเฉินแม้พร้อมด้วยอุปกรณ์ทันสมัย หากขาดทักษะ อาจเป็นการสร้างวิกฤติมากกว่าโอกาส
อาจารย์นัยนา แขดกิ่ง อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้บัณฑิตพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดลมีความโดดเด่น คือ การจัดการเรียนการสอนที่เน้น "การฝึกทักษะ" ซึ่งจำเป็นต่อทุกบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะ เนื่องจากอาจหมายถึงการต้องสูญเสียเมื่อทำด้วยความไม่รู้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5 นาทีแรกของการคลอด ที่ชีวิตของมารดาและทารกต้องฝากไว้กับแพทย์และพยาบาลผู้ทำคลอด หนึ่งในปัญหาสำคัญที่นำไปสู่การสูญเสียเกิดจาก"การคลอดติดไหล่" (Shoulder Dystocia) พบได้ร้อยละ 0.6 - 1.4
"อุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอนทำคลอดทุกสถาบันพยาบาลมีเหมือนกัน แต่เมื่อถึงเวลาสำคัญที่ต้องปฏิบัติจริงปัญหาที่พบมักเกิดจากการฝึกทำคลอดที่ยังไม่มากพอ" อาจารย์นัยนา แขดกิ่ง กล่าว
ในห้องเรียนแห่งการฝึกปฏิบัติของการฝึกทำคลอดของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเต็มไปด้วยความกระตือรือร้น จากการเตรียมพร้อมทำการบ้านด้วยการศึกษาวิธีการและวางแผนตั้งแต่ก่อนการฝึก พร้อมการทำงานเป็นทีม ก่อนนำปัญหาที่เกิดขึ้นจากการฝึกมาร่วมคิดร่วมแก้จนเกิดความมั่นใจ เมื่อต้องปฏิบัติจริง ซึ่งไม่ใช่เวลาของการลองผิดลองถูก
นักศึกษาพยาบาลที่นอกจากเข้ารับการฝึกฝนเรียนรู้การทำงานซึ่งสอดประสานกันระหว่างแพทย์และพยาบาลผู้ทำคลอด ยังสำคัญที่ทักษะในการสื่อสารกับมารดาที่จะร่วมผ่านนาทีสำคัญสู่การให้กำเนิด "สมาชิกใหม่" ไปด้วยกัน
โดยการคลอดจะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับ "การใช้สติ" ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อแม่ที่กำลังเจ็บท้องคลอด โดยจะต้องไม่ลืมที่จะให้ความร่วมมือระหว่างเข้ารับการทำคลอดด้วยการพยายามงอเข่าดึงเข้าตัวให้ได้มากที่สุด จนต้นขาอยู่ชิดหน้าท้อง ในขณะเดียวกันอาจช่วยกดบริเวณเหนือหัวหน่าวทำให้ไหล่ทารกยุบลง ซึ่งจะช่วยทำให้ภาวะ "คลอดติดไหล่" ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ช่วยทำให้การทำคลอดติดไหล่เป็นไปโดยสะดวกมากขึ้น
แนวคิด "การฝึกจากการสร้างสถานการณ์จำลอง" โดยอาจารย์นัยนา แขดกิ่ง เป็นที่ยอมรับถึงประสิทธิภาพในการเรียนการสอน จนที่ผ่านมาสามารถคว้ารางวัลจากการประกวดในระดับชุมชน และยังได้มีการขยายผลสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการฝึกปฏิบัติในการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ระหว่างประเทศพี่เมืองน้องไทย-ลาวต่อไปอีกด้วย
โดยเป็นการพิสูจน์ว่า ความรู้ไม่ได้มีแต่เพียงแค่ในตำรา แต่จะสามารถบังเกิดผล และส่งต่อไปได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด หากได้ "รู้จริงจากการปฏิบัติจริง" เพื่อการบรรลุเป้าหมาย SDG4 "Quality Education" เพื่อการศึกษาที่เท่าเทียมและยั่งยืนของโลกต่อไป
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
.