นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการติดตามแนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในพื้นที่กรุงเทพฯ หลังจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในไทยเพิ่มขึ้น 2.3 เท่าว่า จากการตรวจสอบจำนวนผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา (Epinet) และระบบรายงานการเฝ้าระวัง (รง.506) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงเดือน มิ.ย.66 พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง 31 คน มากกว่าเดือน พ.ค.66 ที่พบผู้ป่วย 21 คน หรือเพิ่มขึ้น 0.5 เท่า ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 27 คน ชาวต่างชาติ 4 คน เป็นเพศชายทั้งหมด เป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย 30 คน และมีประวัติติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ร่วมด้วย 14 คน
อย่างไรก็ตาม จากการประเมินระดับความเสี่ยง (Risk Estimation) ของโรคและภัยสุขภาพ พบว่า โรคนี้มีความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลาง จำกัดวงในกลุ่มเฉพาะ และลักษณะการกระจายของโรคคล้ายกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น เนื่องจากการติดต่อต้องสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด เช่น การมีเพศสัมพันธ์ ผู้ป่วยที่พบในกรุงเทพฯ ไม่พบผู้ที่มีอาการรุนแรง แต่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ประวัติเสี่ยงส่วนใหญ่คือ การมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่ไม่รู้จักมาก่อนแบบ One Night Stan (ความสัมพันธ์แบบไม่มีข้อผูกมัด) มากที่สุด และมีประวัติไปสถานที่เสี่ยงที่เอื้อต่อการมีเพศสัมพันธ์แบบชายรักชาย รวมถึงกลุ่มที่นิยมการมีความสัมพันธ์กันแบบ One Night Stan อาทิ สวนสาธารณะ ห้องน้ำสาธารณะ สถานประกอบการ เช่น ฟิตเนส ออนเซ็น ซาวน่า รวมทั้งการนัดพบบุคคลที่ไม่รู้จักผ่านแอปพลิเคชันหาคู่ ทั้งนี้ กทม.ได้แจ้งสถานที่เฝ้าระวังผู้ป่วยเป็นกรณีพิเศษ อาทิ สถานพยาบาล ได้แก่ คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และคลินิก HIV ให้แจ้งผ่านระบบรายงานโรค รง.506 สถานประกอบการ โดยเฉพาะซาวน่าและสถานบันเทิงเฉพาะกลุ่มชายรักชาย ควรงดให้เข้าใช้บริการ และแจ้งต่อสำนักงานเขต หรือศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่
นอกจากนั้น ยังได้รณรงค์เน้นย้ำส่งเสริมความรู้ความเข้าใจลักษณะอาการของโรคให้แก่ประชาชน รวมถึงลักษณะการแพร่เชื้อ วิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคฝีดาษลิง และข้อควรปฏิบัติเมื่อพบอาการเข้าข่ายโรค หากมีอาการป่วยให้รีบพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม โดยเน้นย้ำแม้มีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัยจะป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ แต่ไม่สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ เนื่องจากสามารถติดเชื้อได้จากการสัมผัสแบบแนบชิด อีกทั้งร่วมมือกับเครือข่ายด้านสาธารณสุข เช่น NGO สถานประกอบการสุขภาพประเภทสปา ซาวน่า ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ แนะนำการสังเกตอาการ และมาตรการป้องกันโรคฝีดาษลิงสำหรับประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยง และเน้นย้ำแนวทางปฏิบัติให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในศูนย์บริการสาธารณสุข โดยเฉพาะในคลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกรักษาผู้ติดเชื้อ HIV หากพบผู้ป่วยให้ส่งยืนยันการติดเชื้อ ผ่านสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สอบสวนโรคทุกราย เฝ้าระวังควบคุมโรคในพื้นที่ให้เร็วที่สุด เพื่อลดการแพร่ระบาด
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวว่า สนพ.ได้เฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงและเตรียมพร้อมแนวทางการป้องกันโรคของกรมควบคุมโรค หากมีอาการของโรคพึงสังเกตอาการจะคล้ายโรคฝีดาษลิง ซึ่งมีลักษณะอาการ ดังนี้ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย บางกรณีอาจมีอาการไอ หรือปวดหลังร่วมด้วย หลังจากมีไข้ประมาณ 1 - 3 วัน ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นโดยเริ่มจากใบหน้าแล้วแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง และสุดท้ายตุ่มหนองจะมีสะเก็ดคลุมแล้วหลุดออก อาการป่วยดังกล่าวจะเป็นอยู่ประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ แต่ในกรณีผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ หรือมีโรคประจำตัว อาจเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ปอดบวม หรือเสียชีวิต หากพบผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสงสัยจะแยกกักตัวทันทีและรายงานข้อมูลตามแนวทางที่กำหนดต่อไป
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด หากต้องเดินทางไปต่างประเทศที่พบผู้ป่วยฝีดาษลิง ควรระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะและหลังจากเดินทางกลับจากต่างประเทศที่มีการระบาดให้สังเกตอาการ โรคนี้เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด ไม่ได้ติดต่อกันได้ง่าย มาตรการที่ใช้ป้องกันโควิด 19 ยังใช้ป้องกันฝีดาษลิงได้คือ หากพบมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขา ให้รีบพบแพทย์ทันที รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention โดยหมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ เว้นระยะห่าง ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย หรือผู้มีตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง สำหรับกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและมีคู่นอนหลายคนสามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ที่คลินิกสุขภาพเพศหลายหลาย กรุงเทพมหานคร (BKK Pride Clinic) ในโรงพยาบาลสังกัด กทม.ทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โทร.02 220 8000 ต่อ 10350 โรงพยาบาลตากสิน โทร.02 437 0123 ต่อ 1136, 1140 โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โทร.02 289 7890 โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โทร.02 102 4222 หรือ 02 421 2222 และโรงพยาบาลสิรินธร โทร.02 328 6900 - 15 ต่อ 10268, 10269
นอกจากนั้น ยังได้สั่งการให้ทุกโรงพยาบาลสังกัด กทม.เฝ้าระวังคนไข้ทั้งห้องฉุกเฉิน (ER) และผู้ป่วยนอก (OPD) รวมถึงโรงพยาบาลที่มีคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง ขณะเดียวกันได้มอบหมายโรงพยาบาลสิรินธรเปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอุบัติใหม่ เพื่อเฝ้าติดตามข้อมูล ควบคุมดูแลสถานการณ์โรคฝีดาษลิงอย่างใกล้ชิด หากพบผู้ป่วยที่อาการต้องสงสัยให้แยกกักตัวและแจ้งให้ผู้บริหารและกระทรวงสาธารณสุขทราบทันที พร้อมเน้นย้ำบุคลากรทางการแพทย์หากพบผู้ป่วยให้แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้อื่น อย่างไรก็ตาม แม้การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อดังกล่าวได้ แต่การฉีดวัคซีนดังกล่าวควรทำเฉพาะในบุคคลที่ต้องทำงานมีความเสี่ยง หรือใกล้ชิดกับคน หรือสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น และวัคซีนยังสามารถรับได้ภายหลังการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์ทันทีและแยกกักตัว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ กทม. โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง