ชุมชนห้วยยาง ต.ดงเมืองแอม และ ชุมชนนางิ้วนาโพธิ์ ต.นางิ้ว อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น ต้อนรับ ผู้แทนจาก กฟผ. เข้าเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ชุมชนฯ ที่ แปลงผักปลอดภัย ชุมชนห้วยยาง และป่าชุมชนนางิ้ว-นาโพธิ์ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการพัฒนาองค์ความรู้ และขยายผลด้านความมั่นคงทางอาหารต่อไป
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 ชุมชนห้วยยาง ต.ดงเมืองแอม และ ชุมชนนางิ้วนาโพธิ์ ต.นางิ้ว อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น ได้มีโอกาสต้อนรับ คุณนำพล โพธิวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ความยั่งยืน (อกย.) นายวิษณุ วัฒนเวชรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - 2 (ช.อปอ-2.) ฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อปอ.) พร้อมคณะ ผู้แทน กฟผ. เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ชุมชนฯ แปลงผักปลอดภัย ของชุมชนห้วยยาง พร้อมกันนี้ยังได้ศึกษาดูงานการบริหารจัดการป่าชุมชนนางิ้ว-นาโพธิ์
แปลงผักปลอดภัย ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ชุมชนห้วยยาง มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร "เพียงพอ ปลอดภัย มีคุณค่า มีสุขภาพ" ซึ่งในปี 2557 ชุมชนได้ร่วมกับโครงการพลังชุมชนฯ ดำเนินการผันน้ำเข้าสู่หนองแสงสำเร็จ ทำให้มีปริมาณเพียงพอในการอุปโภค จากนั้นในปี 2558 ชุมชนได้เริ่มต่อยอดกิจกรรม โดยการสร้างความมั่นคงทางอาหาร จัดตั้งกลุ่มปลูกผักอินทรีย์ อบรมจัดทำปุ๋ยอินทรีย์ เริ่มทำแปลงผักรอบหนองแสง ในปี 2559 มีการขยายแปลงปลูกผัก มีการทำระบบการปั่นจักรยานสูบน้ำ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพผลิตผักอินทรีย์ได้อย่างพออยู่พอกิน ส่วนที่เหลือ
แบ่งปันทำบุญ จากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในปี 2564 จึงยกระดับเป็นแหล่งเรียนรู้การพัฒนาที่ยั่งยืน มีการพัฒนาฐานความรู้ด้านความมั่นคงทางอาหาร
และมีการขยายผลโดยการผลักดันความมั่นคงอาหาร เป็นนโยบายระดับตำบล
การจัดการป่าของบ้านนางิ้วนาโพธิ์ ที่ชุมชนร่วมกันปลูกและดูแลป่าชุมชนจนเกิดเป็นพื้นที่สาธารณะที่เอื้อประโยชน์ต่อคนในชุมชนในหลายแง่ทาง ตระหนักถึงปัญหาไฟป่าเช่นกัน ทั้งนี้พื้นที่ จ.ขอนแก่นเองก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติประกาศให้เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า โดยเฉพาะไฟผิวดิน (Surface Fire) ที่เกิดขึ้นได้ง่าย และหากไม่สามารถควบคุมได้ก็จะขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว ดังนั้นคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านนางิ้วนาโพธิ์ได้ขับเคลื่อนแนวทางการป้องกันไฟป่า โดยกำหนดกติกาป่าชุมชนนางิ้วนาโพธิ์ขึ้น แล้วทำหนังสือถึงผู้ใหญ่บ้านในชุมชนใกล้เคียงเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับรู้ และตระหนักถึงปัญหาไฟป่า แนวทางการปฏิบัติ และกติกาของป่าชุมชน ซึ่งมีรายละเอียดครอบคลุมถึงการปลูกป่าหรือต้นไม้ยืนต้นเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวเป็นปอดของโลกและแหล่งอาหารชุมชน การห้ามเผาป่าชุมชนเพื่อล่าสัตว์หรือของป่า ไปจนถึงการห้ามจุดไฟเผาวัชพืช, ตอซัง, ไร่อ้อย หรือขยะในพื้นที่ใกล้ชุมชน หรือป่าชุมชน หรือป่าสาธารณะ หรือแม้แต่ถนนสาธารณะ ที่อาจรุนแรงจนเป็นอันตรายต่อบุคคล, ทรัพย์สินและป่าชุมชน ชุมชนจะดำเนินการจัดทำป้ายรณรงค์ และป้ายประชาสัมพันธ์ เพื่อกระตุ้นให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญ ร่วมกันป้องกัน และสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดไฟป่าขึ้น ทั้งนี้ ยังมีแนวคิดในการปรับปรุงพื้นที่ป่าชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้การจัดการ ดูแล และอนุรักษ์ป่าชุมชน เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาดูงานของชุมชนที่ให้ความรู้จากการดำเนินงานจริงของชุมชน ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ให้ผู้ที่เข้ามาเรียนรู้ได้รับประโยชน์กลับไปสูงสุดอีกด้วย
โครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ CEIS ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สถาบันพัฒนา วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) สมาคมพัฒนาศักยภาพและอัจฉริยภาพมนุษย์ (สพศอ.) และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)
ให้ความสำคัญในการสร้าง และส่งเสริมให้ชุมชนภายใต้โครงการฯ เกิดความยั่งยืน โดยใช้พลังชุมชนและนวัตกรรม รวมถึงการหนุนเสริมจากภาคีต่าง ๆ เท่าที่จำเป็น มาบูรณาการ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการวิจัยและพัฒนา และนำมาปรับใช้กับภูมิปัญญาดั้งเดิม ให้เหมาะสมในในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนแก่ชุมชนต่อไป
ติดตามข้อมูลข่าวสาร D community ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/GoodforCommunity
You tube : https://www.youtube.com/@dcommunity2023