กลุ่ม KTIS จับมือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เร่งขุดลอกคูคลอง ขุดสระน้ำ และขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่ม หวังลดผลกระทบจากภัยเอลนีโญ เผยในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2566 เฉพาะเขตรอยต่อ จ.นครสวรรค์ และ จ.ชัยนาท ได้สร้างแหล่งน้ำเพิ่มขึ้นนับร้อย รวมแหล่งน้ำที่ใช้ได้สำหรับเกษตรกรกลุ่ม KTIS กว่า 6,300 จุด พร้อมเดินหน้าพัฒนาคุณภาพอ้อย ด้วยการคัดเลือกพันธุ์อ้อยที่เหมาะสม และอบรมการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
นายสมชาย สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า เนื่องจากในปีนี้ไทยมีโอกาสประสบภาวะเอลนีโญ ตั้งแต่ระดับอ่อนถึงรุนแรง ซึ่งจะส่งผลให้ฝนตกน้อย ไปจนถึงภาวะฝนแล้ง ดังนั้น กลุ่ม KTIS จึงได้เตรียมการเพื่อลดผลกระทบดังกล่าวที่อาจมีต่อผลผลิตอ้อยและชาวไร่อ้อย โดยเฉพาะในเรื่องของแหล่งน้ำ
ทั้งนี้ สิ่งที่ทางกลุ่ม KTIS ชาวไร่อ้อย และชุมชน ได้ดำเนินการร่วมกันอย่างต่อเนื่อง มีทั้งที่เกษตรกรดำเนินการด้วยตนเอง โรงงานสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาดำเนินการ และบางส่วนจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น การเสนอแผนขุดลอกคลองให้ทางจังหวัดพิจารณา เพื่อให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการ โดยจะมีการขุดลอกคลองระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ทำการเกษตรหลายพันไร่ อันจะเกิดประโยชน์กับเกษตรกรจำนวนมาก
สำหรับการขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำและการขุดเจาะบ่อบาดาลนั้น ก็ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยในพื้นที่โรงงานน้ำตาลเกษตรไทย ซึ่งเป็นรอยต่อจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดชัยนาทนั้น มีแหล่งน้ำที่ใช้สำหรับไร่อ้อยได้กว่า 4 พันจุด โดยเฉพาะช่วงครึ่งเดือนแรกปี 2566 (1-15 มิ.ย. 66) ได้เร่งสร้างแหล่งน้ำทั้งการขุดสระน้ำและขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มขึ้นกว่า 100 จุด
ส่วนพื้นที่โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ในจังหวัดอุตรดิตถ์ มีแหล่งน้ำที่ใช้สำหรับไร่อ้อยได้กว่า 2,300 จุด โดยได้เร่งสร้างแหล่งน้ำใหม่ ทั้งการขุดสระน้ำและขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มขึ้นประมาณ 70 จุด
"นอกจากที่ได้กล่าวแล้ว ยังมีโครงการของรัฐบาลที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรในพื้นที่ เช่น แผนสี่แควโมเดล ซึ่งสนับสนุนงบประมาณในการขุดลอกวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมถึงสนับสนุนการเจาะบ่อบาดาลเพื่อการเกษตรอีกด้วย ซึ่งโดยรวมแล้ว ในปัจจุบันไร่อ้อยของเกษตรกรคู่สัญญาของกลุ่ม KTIS ประมาณ 90% ยังได้รับน้ำเข้าแปลงอ้อยตามปกติ แต่ในระยะต่อไปคงต้องดูปริมาณฝนเพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้ง" นายสมชายกล่าว
ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าวด้วยว่า สำหรับฤดูการผลิตปี 65/66 ที่ผ่านมา กลุ่ม KTIS ได้ผลผลิตอ้อย 6.9 ล้านตัน สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้มากถึง 8 ล้านกระสอบ เนื่องจากคุณภาพอ้อยที่ดีขึ้นมาก ทำให้ได้ผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยสูงขึ้น ซึ่งในฤดูการผลิตปี 66/67 นี้ ทางกลุ่ม KTIS ก็ได้ร่วมกับชาวไร่อ้อยในการพัฒนาคุณภาพอ้อยอย่างต่อเนื่อง โดยการคัดเลือกพันธุ์อ้อยที่เหมาะสม การฝึกอบรมการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากปัญหาปริมาณผลผลิตอ้อยลดลงเพราะภัยแล้งได้อีกทางหนึ่ง