SCB CIO เปิดกลยุทธ์ลงทุนฝ่าภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีนี้ แนะจัดพอร์ตลงทุนรองรับแรงสะเทือนจากความผันผวนของตลาด แบ่งเงินลงทุนในตราสารหนี้ 35-40% ของพอร์ตรวมทั้งหมด หุ้นในกลุ่ม Defensive ประเภทสาธารณูปโภค เช่น พลังงานทางเลือก หรือ สินค้าอุปโภคบริโภคและ หุ้นจีน A-share อีกประมาณ 35-40% ลงทุนในทองคำ น้ำมัน หรือสินค้าโภคภัณฑ์ 5-10% และเก็บสภาพคล่องไว้ในกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market)สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อีก 5 -10% เพื่อรอจังหวะเข้าลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ในต่างประเทศ
นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย CIO Office ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาวะการลงทุนที่ธนาคารกลางหลัก ยังคงมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอีก0.25% ในการประชุมวันที่ 25 -26 กรกฎาคมนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ ยังปรับลดลงช้า แต่คาดว่าเฟดใกล้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ขณะที่ภาคธุรกิจธนาคารสหรัฐฯ มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งเป็นแรงกดดันเพิ่มเติม ที่อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง และมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยแบบอ่อนๆได้ (mild recession)
ในช่วงภาวะนี้หากนักลงทุนต้องการฝ่ามรสุมเศรษฐกิจถดถอย แนะนำในพอร์ตลงทุนควรมีตราสารหนี้ประมาณ 35-40% ส่วนอีก 35-40% ลงทุนในหุ้น โดยเน้นที่กลุ่ม Defensive หรือหุ้นที่ทนทานทุกสภาพตลาด และ 5-10% ลงทุนในทองคำ น้ำมัน หรือสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) รวมทั้งเน้นเก็บสภาพคล่องอีก 5-15% ไว้ในกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรอจังหวะเข้าลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การแบ่งเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ นักลงทุนแต่ละท่านมีเป้าหมายการลงทุนที่แตกต่างกัน โดยจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่ยอมรับได้ด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ควรมีสินทรัพย์ลงทุนดังกล่าวไว้ในพอร์ต เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในอีก 12 เดือนข้างหน้า มีโอกาส 30% ที่จะชะลอตัว และเงินเฟ้อลงเร็วกว่าคาด ทำให้อาจไม่ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก แต่มีความเป็นไปได้ถึง 60% ที่จะถดถอยแบบอ่อนๆ และเงินเฟ้อพื้นฐานยังชะลอตัวลงช้า ดังนั้น อาจได้เห็นเฟด ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้ง เป็น5.50-5.75% แล้วคงอัตราดอกเบี้ยไว้ โดยส่งสัญญาณว่าการลดดอกเบี้ยน่าจะเกิดในปี 2567 โดยลดลง 1 percentage points เป็น 4.6% และในปี 2568 ลดลงอีก 1.2 percentage points อยู่ที่ 3.4% ซึ่งภาวะเช่นนี้ การลงทุนในตราสารหนี้ยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่น่าสนใจ ภายใต้ความเสี่ยงที่ต่ำกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น อย่างไรก็ตาม ตลาดรับรู้คาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในเดือนกรกฎาคมไปค่อนข้างมากแล้ว เมื่อพิจารณาจากคาดการณ์ของนักลงทุนใน Fed Fund Futures ค่อนข้างสอดคล้องกับเฟดที่มองว่าเงินเฟ้อยังลงช้ากว่าเป้าหมาย และมีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง ในอัตรา 0.25% แต่คาดว่าจะกระทบตลาดและอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ไม่มากนัก ด้วยเงินเฟ้อที่ปรับลดลงช้า และตลาดแรงงานยังตึงตัว
SCB CIO มองว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะยังอยู่ในระดับสูงกว่า5%ไปตลอดทั้งปี 2566 ถือเป็นระดับที่น่าสนใจ นับว่าหายากมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะสั้น ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำโดยเราพบว่ามีเงินไหลเข้า กองทุนรวมตลาดเงิน(Money Market)สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.)ระดับโลกค่อนข้างมาก
ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว มองว่า Bond Yield น่าจะผ่านระดับสูงสุดมาแล้วช่วงต้นปี หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก1หรือ2 ครั้ง จะส่งผลให้ Bond Yield น่าจะอยู่ในขาลงมากกว่าขาขึ้น ทั้งนี้ แม้ตลาดจะมองว่า เงินเฟ้ออาจยังไม่เข้าสู่กรอบที่เฟดต้องการในปี 2567 แต่ด้วยดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูง และอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง หรือ Real Yield (อัตราดอกเบี้ย - เงินเฟ้อ) มีแนวโน้มเป็นบวก การลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว จึงยังน่าสนใจ สำหรับพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว และหุ้นกู้คุณภาพสูง ที่มีเรตติ้ง AA- ขึ้นไป ของบริษัทที่แข็งแกร่ง ซึ่งมักจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจน้อยกว่าบริษัททั่วไป โดยตราสารหนี้เหล่านี้ ยังให้ผลตอบแทนค่อนข้างดี อาจได้ทั้งอัตราดอกเบี้ยรับของตราสารหนี้ที่ค่อนข้างสูง และส่วนต่างกำไรจากราคาตราสารหนี้ที่จะปรับเพิ่มขึ้น ในช่วงที่ดอกเบี้ยลดลง
สำหรับการลงทุนในหุ้นแนะนำให้ขายทำกำไรหุ้นที่ได้รับผลตอบแทนสูงในช่วงที่ผ่านมา เช่น กลุ่มMega Technologyในสหรัฐฯ ที่นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันราคาปรับขึ้นไป30-40% และมีหุ้นหลายตัวที่ราคาเริ่มกลับไปทำระดับสูงสุดใหม่ (new high) ที่ควรใช้ความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น แล้วสับเปลี่ยนเงินไปลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive ของสหรัฐฯน่าสนใจเพราะยังทำผลงานได้น้อยกว่าตลาด แต่เป็นหุ้นที่มีแนวโน้มปรับตัวได้ดีในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีหรือถดถอย หุ้น Defensiveที่แนะนำคือกลุ่มสาธารณูปโภค (Utility) เช่น พลังงานทางเลือก ที่ยังปรับขึ้นช้ากว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีค่อนข้างมาก และกลุ่ม Consumer Staples หรือสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต ที่ผลการดำเนินงานมักจะมีเสถียรภาพกว่าหุ้น S&P500 โดยรวมในช่วงตลาดขาลง
นอกจากนี้ การย้ายเงินลงทุนจากตลาดพัฒนาแล้ว ไปยังตลาดเกิดใหม่เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เช่น หุ้นจีน A-Share ถึงแม้จะยังทำผลงานได้ดีน้อยกว่าตลาดอื่น แต่มองว่ามีความน่าสนใจลงทุนระยะยาว จึงยังให้น้ำหนักการลงทุนสูงกว่าตลาดพัฒนาแล้ว ส่วนทองคำ น้ำมัน หรือสินค้าโภคภัณฑ์ หากมีไว้ในพอร์ต 5-10% จะช่วยป้องกันความเสี่ยงเศรษฐกิจขาลงได้ กลุ่มนี้มักจะทำให้พอร์ตลงทุนโดยรวมให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบด้วยค่าความเสี่ยงที่เท่ากัน
"นักลงทุนคาดหวังผลตอบแทนปลายทางที่เป็นบวกตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ทั้งสิ้น แต่เนื่องจากการลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้น ระหว่างทางที่ลงทุนอาจจะมีสถานการณ์เข้ามากระทบ ทำให้ผลตอบแทนของสินทรัพย์บางประเภทปรับลดลง หรือผันผวนบ้าง แต่หากนักลงทุนมีระยะเวลาให้เงินลงทุนได้ทำงานนานมากเพียงพอ และมีการจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยงให้สอดคล้องกับความสามารถยอมรับความเสี่ยงของตัวเอง ที่สุดแล้วหนทางแห่งความสำเร็จของการลงทุนจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ " นายศรชัย กล่าว