นางสาวอำภา นรนาถตระกูล ผู้อำนวยการสำนักการคลัง (สนค.) กทม.กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากปีที่ผ่านมาต้องเสียภาษีในอัตราที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังกังวลหากยกเลิกการอนุญาตการทำเกษตรแบบเฉพาะกิจ อาจส่งผลให้พื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ลดลงว่า กรุงเทพมหานครใช้หลักเกณฑ์ แนวทางการประเมิน และการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2564 บัญญัติให้จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราที่แตกต่างกันตามการใช้ประโยชน์
ดังนี้ (1) ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.01 - 0.1 (2) ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.02 - 0.1 (3) ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่น เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.3 - 0.7 และ (4) ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.3 - 0.7 ทั้งนี้ มาตรา 43 บัญญัติให้ในกรณีที่ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างนั้นต้องเสียภาษีในอัตราทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันให้เรียกเก็บภาษีในปีที่ 4 เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.3 และหากยังทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพอีก ให้เพิ่มอัตราภาษีอีกร้อยละ 0.3 ในทุกสามปี ส่งผลให้ในปีภาษี พ.ศ.2566 ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษีในอัตราทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพตลอดสามปีที่ผ่านมา ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 0.6
ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับการยกเลิกการอนุญาตการทำเกษตรแบบเฉพาะกิจ เนื่องจากเจ้าของที่ดินจำนวนมากได้นำต้นไม้ หรือพืชผลทางการเกษตรมาปลูกในที่ดินรกร้างว่างเปล่า ทั้งด้วยมีเจตนาเพื่อทำการเกษตรอย่างแท้จริง และเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีในอัตราทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ (เกษตรเฉพาะกิจ) ซึ่งการใช้ประโยชน์ในที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่จะถือเป็นการประกอบการเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ต้องเป็นการทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำ และการประกอบการเกษตรตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภค จำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์ม และต้องมีจำนวนของพืช หรือสัตว์แต่ละชนิดตามอัตราที่กำหนด ตามประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ดังนั้น การใช้ประโยชน์ ในที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่จะถือเป็นการประกอบการเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เจ้าของที่ดินจะต้องดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ หรือพืชผลที่ปลูก เพื่อให้ได้ผลผลิตนำมาบริโภค จำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์ม กรณีการทำเกษตรเฉพาะกิจโดยเจ้าของที่ดินเพียงแต่นำต้นไม้ หรือพืชผลมาปลูก แต่ไม่ได้ดูแลบำรุงรักษาตามควรแก่สภาพ จึงอาจถือได้ว่า ไม่ใช่การประกอบการเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครจะได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อไป