เจาะประเด็น The Next Big Things ของวงการ FinTech จากเวที CTC2023 Festival

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 7, 2023 09:45 —ThaiPR.net

เจาะประเด็น The Next Big Things ของวงการ FinTech จากเวที CTC2023 Festival

ไฮไลท์สำคัญในงาน Creative Talk Conference 2023 ในธีม Festival มีเซสชันหนึ่งที่น่าสนใจคือ "The Next Big Thing" ของแวดวง FinTech ไทย ซึ่งในเซสชันดังกล่าวมี CEO คนเก่ง คุณอัศวิน พละพงศ์พานิช ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DeeMoney ร่วมพูดคุยและเสวนาบนเวทีถึงทิศทางและอนาคตของแวดวงฟินเทคไทยในฐานะผู้ให้บริการการโอนเงินระหว่างประเทศที่ถือเป็นภาคเอกชนที่ได้รับสิทธิ์ครั้งนี้ 

คุณอัศวิน พละพงศ์พานิช ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DeeMoney เผยว่า "ตอนนี้ DeeMoney ถือเป็นผู้นำอันดับ 1 ของประเทศไทยในแง่ของ Cross-Border Payments ถ้าเทียบกับตลาด Non-Bank ที่ให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ เราให้บริการโอนเงินเข้ามาที่ประเทศไทยได้มากกว่า 100 ประเทศ และสามารถโอนเงินออกไปยังต่างประเทศได้มากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก"

"ผมว่าตลาดฟินเทคมีความน่าสนใจและน่าตื่นเต้นมาก พอๆกับตลาดคริปโตเมื่อช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ด้วยที่ฟินเทคถือเป็นอุตสาหกรรมที่ผลักดันเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ต่างประเทศก็เช่นกัน ประกอบกับเกิดภาวะโรคระบาด COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ฟินเทคเติบโตมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ที่ประเมินธุรกิจบริการดิจิทัลในปี 2566 มีมูลค่าสูงถึง 5.6 แสนล้านบาทและมีอัตราเติบโตกว่า 20%"

"ด้านการลงทุนในฟินเทคปี 66 ถึงแม้จะลดลงทั่วโลก แต่ยังมีความคาดหวังการเติบโตจากฝั่งเอเชีย เนื่องด้วยการเปิดรับของผู้ให้บริการที่อยู่บนโลกธุรกิจบริการดิจิทัล ที่ร่วมมือกันผ่านการให้บริการทางการเงินแบบฝังตัว (Embedded finance) การนำเสนอบริการทางการเงินต่างๆ เช่น การชำระเงิน ประกัน เงินฝาก การลงทุน ของผู้ให้บริการรายอื่นบน ecosystem ของตัวเอง (Financial-services as-a-platform ) เทคโนโลยีบล็อกเชน และการเกิดขึ้นของ Virtual banking หรือธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ซึ่งประเทศไทยเตรียมประกาศใบอนุญาตใหม่เพื่อสนับสนุนการขยายตลาดในกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการธนาคาร (Unbanked) หรืออาจจะเข้าถึงบริการของธนาคารแล้วแต่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ (Underbanked)"

"โดยหากสตาร์ตอัปจะรอด สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่เรื่องมูลค่าและยอดขาย แต่เป็นการบริหารจัดการทุกส่วนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ส่วนหลักได้แก่ 1) กลยุทธ์ด้านการเงิน (Financial strategy) การดูแล บริหารจัดการเงินลงทุนให้เหมาะสมกับสอดคล้องกับรายได้ และการเจริญเติบโตของธุรกิจ เพื่อให้เห็นชัดว่า Business model ที่ทำอยู่เป็นไปได้จริง 2) Sustainable การนำธุรกิจไปสู่ผลประกอบการที่มีการรับรู้กำไร (Profitability) อย่างต่อเนื่อง ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึง การสร้างกำไรอย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่กำไรที่ได้ต้องมีความยั่งยืน อยู่ได้ในระยะยาว 3) Social impact ถามว่าหากบริษัทจะมีกำไรที่ดีอย่างเดียวเพียงพอหรือไม่ ในยุคนี้คงไม่ได้ เพราะเมื่อบริษัทเติบโต ก็ย่อมมีผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) เช่นลูกค้า คู่ค้า และพนักงาน ในฐานะผู้ให้บริการเราจะต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เราต้องสร้างคอมมิวนิตี และสร้างระบบนิเวศน์ที่ดีให้เกิดขึ้น โดย สูตรสำเร็จของธุรกิจไม่ใช่คำนึงถึงแต่ผลกำไร แต่จะต้องส่งเสริมสังคมไปด้วยพร้อมกัน"

ในระหว่างเซสชันมีการพูดถึงประเด็นการทำธุรกิจในไทยและต่างประเทศ ว่ามีเทคโนโลยีหรือพฤติกรรมอะไรที่เป็นเทรนด์ที่น่าสนใจบ้าง? "สิ่งที่น่าจับตามองในตอนนี้คือ AI และการทำ Automation เพราะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตและการบริหารจัดการได้อย่างมี ประสิทธิภาพ โดยเชื่อว่าคนทั้งโลกจะหันมาให้ความสนใจในเรื่องนี้ รวมทั้งมีคำศัพท์ใหม่ที่เกิดขึ้นและคนจะหันมาโฟกัสเพิ่มคือ เทคโนโลยี IoT (Internet of Things) ' ที่อุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart devices) ต่าง เชื่อมต่อ สามารถส่งผ่านข้อมูลระหว่างกันผ่านอินเตอร์เน็ต และอีกหัวข้อหนึ่งที่น่าสำคัญคือ 'Open banking' ที่ผู้บริโภคสามารถขอใช้บริการกับผู้ให้บริการทางการเงินรายใหม่ โดยส่งข้อมูลของตนเองจากผู้ให้บริการปัจจุบัน เพื่อประกอบการพิจารณาในการขอใช้บริการ ภาพทั้งหมดนี้อาจจะยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นคือ Mobile device และ Application จะมีความเข้าใจพฤติกรรมการใช้งานของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะแอปพลิเคชันเดียวจะไม่สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าได้ เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้าจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามฟังก์ชันของการพัฒนาโปรดักส์"

นอกจากนี้ยังมีคำถามที่คุณอัศวิน พละพงศ์พานิช ตอบไว้ในมุมมองที่น่าสนใจ คือ 'อนาคตของโลกการเงินจะเป็นอย่างไรและเราควรเตรียมพร้อมแค่ไหนเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง?' "ในแง่ของฟินเทค เราในฐานะผู้บริโภคจะมีโปรดักส์มาให้เลือกและมีความหลากหลายมากขึ้น เช่นในสมัยก่อนเราพึ่งพิงแค่ธนาคาร แต่ทุกวันนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว ในแง่ของผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจผมว่าการเข้ามาของอินเทอร์เน็ตในยุค IoTs ที่ความเร็วจะสปีดไวขึ้นในทุกปี ทำให้มี AI ที่จะเข้ามาทดแทนธุรกิจที่ทำอยู่ได้ไวมาก ฉะนั้นผู้ประกอบการ จำเป็นต้องคิดล่วงหน้ากับผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ เพราะบริบทของสินค้าและบริการก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปไวด้วยเช่นกัน"

"สำหรับผมแล้ว ในช่วงที่ผ่านมาเจอผลกระทบของเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 4 ครั้ง สิ่งที่ทำให้ผมผ่านมาได้ในการทำธุรกิจคือ Innovation หรือ นวัตกรรม ที่ต้องสร้างสินค้าและบริการขึ้นมาใหม่ ต้องเปลี่ยนตลาด ต้องคิดในมุมผู้บริโภคก่อนว่าตอนนี้สถานการณ์เป็นแบบไหน ต้องปรับวิธีการอย่างไร ถ้าเราไม่ปรับ ไม่มองภาพให้เห็นชัดเจนว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เราก็จะไปไม่รอดและปรับตัวไม่ทัน" คุณอัศวิน พละพงศ์พานิช ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DeeMoney ปิดท้าย


แท็ก E 20  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ