นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวกรณีมีข้อเสนอแนะให้ กทม.ตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยร้านอาหารประเภทปิ้งย่างในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม.ได้ควบคุมกำกับสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหารอย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ.2545 ออกตามความในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อควบคุม กำกับ ดูแลการประกอบปรุงจำหน่ายอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหารให้ถูกสุขลักษณะและมีความปลอดภัย
โดยกำหนดห้ามใช้ก๊าซหุงต้ม เพื่อปรุงประกอบอาหารบนโต๊ะรับประทานอาหาร และ กทม.ได้มีข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ.2565 มาใช้บังคับ โดยในหมวดที่ 3 ข้อ 30 กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาต หรือผู้ได้รับหนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร ห้ามใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารบนโต๊ะ หรือที่รับประทานอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหาร และข้อ 31 ห้ามใช้เมทานอล หรือเมทิลแอลกอฮอล์เป็นเชื้อเพลิงในการทำ ประกอบ ปรุง หรืออุ่นอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหาร เว้นแต่เป็นการใช้แอลกอฮอล์แข็งสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องมีมาตรฐานตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 25,000 บาท ตามมาตรา 73 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้ สำนักงานเขตได้ตรวจติดตามและกวดขันเกี่ยวกับการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงบนโต๊ะ หรือที่รับประทานอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหาร เช่น ร้านปิ้งย่าง หมูกระทะ ชาบู สุกี้ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อควบคุมกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนั้น สนอ.ยังได้จัดทำคู่มือการดำเนินงานสุขาภิบาลอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหารพื้นที่กรุงเทพฯ เผยแพร่ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้ประกอบการ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานตามข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ.2565 รวมถึงจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นร้านอาหารที่มีการใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงบนโต๊ะรับประทานอาหาร สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง หรือแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue เพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการทางกฎหมายต่อไป