วว. /ญี่ปุ่น ร่วมหารือเพื่อลดปริมาณของเสียจากยานยนต์ มุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ข่าวทั่วไป Friday July 7, 2023 17:29 —ThaiPR.net

วว. /ญี่ปุ่น ร่วมหารือเพื่อลดปริมาณของเสียจากยานยนต์ มุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้การต้อนรับ  Ms.Yumi   Numajiri   ผู้ช่วยทูตพาณิชย์ และคณะผู้แทน จากสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เนื่องในโอกาสที่ฝ่ายญี่ปุ่นได้นำเสนอรายงานผลการศึกษาเรื่อง End-of-Life Vehicle (ELV) Circular System Project in Thailand และร่างแผนการจัดฝึกอบรม ณ ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย  ในการนี้คณะผู้บริหาร วว. และนักวิจัยร่วมให้การต้อนรับ ประกอบด้วย  ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต  รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน  ดร.บุณณนิดา  โสดา  ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์  ดร.เรวดี  อนุวัฒนา  ผู้เชี่ยวชาญวิจัย  และ น.ส.นลินธรณ์  สุวพรจารุวัชร์  นักวิชาการอาวุโส   ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง  ในวันที่  7  กรกฎาคม  2566  ณ ห้องประชุม กวท. ชั้น 8  อาคาร RD 1 วว.เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี

อนึ่ง โครงการ End-of-Life Vehicle (ELV) Circular System Project in Thailand เป็นโครงการการจัดการยานยนต์ที่หมดอายุการใช้งาน เพื่อลดปริมาณของเสียจากยานยนต์ มีการบำบัดซากยานยนต์อย่างถูกวิธีและนำชิ้นส่วนยานยนต์กลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ตามสัดส่วนที่กำหนด ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบจัดการซากรถยนต์ที่เป็นทางการ ซึ่งประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยให้ความสนใจและได้ทำการศึกษาข้อมูลร่วมกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการคำนึงถึงความเป็นกลางทางคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ (Carbon Neutrality) ภายใต้นโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG Economy Model ของประเทศไทย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายโอกาส กระจายรายได้ และนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง นำพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง และมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก คือ B- Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับ C- Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้ G - Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน และ นโยบาย Green Growth Strategy ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนโยบายด้านอุตสาหกรรมที่มุ่งสร้างวัฏจักรเชิงบวกของการเติบโตทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมร่วมกับธุรกิจชุมชน โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนความพยายามของภาคส่วนต่างๆ ต่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ