บาดแผลแห่งเชอร์โนบิล

ข่าวทั่วไป Monday April 28, 2008 09:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--กรีนพีซ
เนื่องในวันครบรอบ 22 ปีเหตุการณ์หายนะเชอร์โนบิล กรีนพีซเปิดตัวนิทรรศการภาพถ่ายเคลื่อนที่ “ประกาศนียบัตรหมายเลข 000358” เพื่อแสดงถึงร่องรอยบาดแผลและโศกนาฏกรรมของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นอกจากนี้ยังเปิดเผยถึง อุบัติภัยที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งใหญ่ในสเปนที่พึ่งเกิดขึ้น และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกแผนการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ไม่อาจคาดเดาได้
“หายนะภัยเชอร์โนบิลเตือนเราว่าเพียงอุบัติภัยครั้งเดียวจะเปลี่ยนความฝันแห่งนิวเคลียร์ทั้งหมดให้กลายเป็นฝันร้ายอันน่าสะพรึงกลัว แท้จริงแล้วประเทศไทยมีศักยภาพมากพอที่จะพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนกว่า ปลอดภัยกว่า และมีต้นทุนต่ำกว่า” นายธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์ ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
“ประกาศนียบัตรหมายเลข 000358” เป็นหมายเลขประจำตัวที่มอบให้กับแอนย่า เปเซนโค จากเบลารุส เธอเป็นหนึ่งในเหยื่อของมหันตภัยครั้งนั้นที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากสารกัมมันตภาพรังสีและโรคเนื้องอกในสมองเมื่ออายุ 4 ปี ช่างภาพชื่อ โรเบิร์ต นอร์ธ และอันตัวเน็ธ เดอ ยอง ซึ่งเป็นนักข่าวได้เดินทางไปบันทึกภาพและเรื่องราวของหายนะเชอร์โนบิลในคาร์ซัคสถาน ยูเครน เบลารุส ยูราล และไซบีเรีย แล้วนำถ่ายทอดสู่สายตาชาวโลกผ่านสมุดภาพที่ชื่อเดียวกันนี้
ประมาณ 5 ถึง 8 ล้านคนยังคงอาศัยอยู่ในบริเวณที่ได้รับการปนเปื้อนอย่างหนักจากสารกัมมันตภาพรังสีที่เกิดขึ้นจากแรงระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเมื่อ 22 ปีก่อน หลักฐานล่าสุดที่เผยแพร่โดยสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งรัสเซีย (The Russian Academy of Sciences) ระบุว่าปัญหานี้ส่งผลกระทบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในรายงานที่ตีพิมพ์ไปก่อนหน้า ผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลนั้น ได้แก่ โรคมะเร็งต่อมไธรอยด์ ลูคีเมีย อาการผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ ระบบขับถ่าย การไหลเวียนของเลือด ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ และฮอร์โมน การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน การติดเชื้อ ความผิดปกในยีนส์ โครโมโซม ระบบสืบพันธุ์ การเจริญเติบโตผิดปกติ และภาวะทุพพลภาพด้านร่างกาย ระบบประสาทและประสาทสัมผัสต่างๆ
ล่าสุด กรีนพีซเปิดเผยอุบัติภัยที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อัสโก-วัน (Asco-I) ในสเปนที่เป็นผลทำให้เกิดการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจำนวนมากในพื้นที่สาธารณะนอกเขตโรงไฟฟ้า เอ็นเดซา/ไอเบอร์โดลา ซึ่งเป็นหน่วยงานดำเนินการโรงไฟฟ้าได้เก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับมาเป็นเวลา 4 เดือน ส่วนหน่วยงานควบคุมดูแลของรัฐบาลหรือซีเอสเอ็น (CSN) ก็ยังคงมองข้ามความรุนแรงของปัญหานี้อยู่หลายวัน แม้ว่ากรีนพีซจะเผยแพร่รายละเอียดของอุบัติภัยไปแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากมีหลักฐานที่ชี้ชัด ภายหลังจึงยอมรับว่า มีการรั่วไหลของกัมตภาพรังสีออกมาอย่างน้อยที่สุด 100 เท่าของปริมาณที่ได้ประกาศไว้ในตอนแรก อนุภาครังสีนิวเคลียร์ได้แพร่กระจายไปในระยะทางหลายกิโลเมตรจากที่ตั้งของโรงไฟฟ้าและคนจำนวนนับพันจำเป็นต้องตรวจร่างกายเพื่อสืบหาการปนเปื้อนของรังสี
กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลไทยล้มเลิกความตั้งใจที่จะผลักดันพลังงานนิวเคลียร์และพิจารณาแผนพลังงานระยะยาวเสียใหม่ โดยผนวกพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้าในแผนการ กรีนพีซระบุว่า พลังงานนิวเคลียร์ไม่มีบทบาทใด ๆ เลยในการช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2050 ในทางกลับกันการพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพทางพลังงานจะเป็นทางออกของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลที่เลือกพลังงานนิวเคลียร์จะพบว่าความมั่นคงและความเป็นอิสระทางพลังงานของประเทศตนจะขึ้นอยู่กับสองสามประเทศและบริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถป้อนเทคโนโลยีและเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ให้
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โทร 089-476-9977
วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร 02-357-1921 ต่อ 115 หรือ 089-487-0678
www.greenpeace.or.th
หมายเหตุ
1 หายนะภัยเชอร์โนบิล: ผลกระทบต่อสุขภาพ โดยกรีนพีซ 2549 สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.greenpeace.or.th
Wiriya Kingwatcharapong (Nueng)
Media Campaigner
Greenpeace Southeast Asia, Thailand
Office: +662 3571921 #115
Mobile: +6689 4870678
skype: wiriyanueng
wiriya@th.greenpeace.org

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ