การแข่งขันการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่องานศิลปหัตถกรรมไทย ผลงานล้ำค่าสู่ระดับนานาชาติ

ข่าวทั่วไป Monday April 28, 2008 10:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--กู๊ด เน็ตเวิร์ค
ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์เป็นองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อของผู้บริโภค ดังนั้นในการจัดทำบรรจุภัณฑ์งานหัตถศิลป์ นอกจากจะต้องทำให้น่าสนใจ มีคุณค่าแล้ว จะต้องออกแบบให้สอดคล้องกับงานศิลปหัตถกรรม ทั้งความสวยงามเหมาะสม และสะดวกต่อการขนส่ง เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์นั้นๆ อีกด้วย นับเป็นกุญแจสำคัญทางด้านการตลาดที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ศูนย์ส่งเสริม ศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. จึงจัดการประกวดบรรจุภัณฑ์ขึ้นโดยร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและภาคเอกชน จัดการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทยระดับประเทศ ประจำปี 2551 ภายใต้ชื่องาน “Thai Star Packaging Awards 2008”
โชคศิริ รอดบุญพา กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า
“ศ.ศ.ป.เป็นประตูบานสำคัญที่เปิดตลาดการค้าและขยายงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านสู่ระดับโลก จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์งานศิลปหัตถกรรมไทยในรูปแบบใหม่ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพทั่วประเทศ และเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดงานศิลปหัตถกรรมประเภทต่างๆ และเพื่อพัฒนาให้งานศิลปหัตถกรรมไทยสามารถประยุกต์ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มศักยภาพเพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุงานศิลปหัตถกรรมเพื่อการขนส่ง ให้มีความแข็งแรง ทนทาน ช่วยลดต้นทุนการขนส่งและการผลิต และลดความเสียหายในการขนส่งสู่ตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ อีกทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ไทยสู่สากล”
โดยโครงการนี้ได้เริ่มมาแล้วตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และในงานแสดงสินค้าของใช้ของตกแต่งบ้าน BIG-BIH ในปีนี้ ระหว่างวันที่ 18 — 21 เมษายน 2551 ณ อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ทางศ.ศ.ป. ได้นำผลงานบรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานศิลปหัตถกรรม มาจัดแสดงให้ชม พร้อมทั้งยังได้จัดการจัดแข่งขันการออกแบบบรรจุภัณฑ์ประเภทต้นแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพพิเศษ ซึ่งเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีความเปราะบาง แตกหักง่าย โดยผู้เข้าร่วมประกวดจะเป็นนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ แบ่งเป็น 10 ทีม ทีมละ 3 คน อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร, วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร, มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, มหาวิทยาลัยบูรพา และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สำหรับคณะกรรมการตัดสินในครั้งนี้มี 9 ท่าน มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ได้แก่ สุรศิษฏ์ บุญญาภิ-สันท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการ พร้อมกรรมการ อาทิ เกษม แย้มวาทีทอง
นายกสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย, ปุ่น คงเจริญเกียรติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แพคเมท จำกัด, สักขี แสน- สุภา ผู้อำนวยการศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย, สุรชัย โสตถีวรกุล นายกสมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย, วิไล อติชาตการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไชน์โฟร์ท จำกัด, วีรชัย มั่นสินธร กรรมการผู้จัดการ บริษัทอุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด, พฤกษชาติ ชีวะโอสถ นักวิชาการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, ชัยรัตน์ สลักฤทัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเพ่นแพค จำกัด
ในการประกวดครั้งนี้ มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา จาก ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Innovation), หน้าที่ ประโยชน์ ความสะดวกในการใช้งาน (Functional / Convenience), ออกแบบได้สวยงาม สะดุดตา และสื่อความหมายได้ (Graphic Appeal), ความเหมาะสม / ประสิทธิภาพและสามารถนำไปผลิตในเชิงการค้าได้ (Appropriateness / Efficiency and Commercial), การคำนึงถึงสภาวะแวดล้อม (Environmental Performance),ความประทับใจโดยรวม (Overall Impression)
น้องๆ นักศึกษาต่างระดมความคิดสร้างสรรค์ จาก 3 ไอเดียกลายเป็นหนึ่งเดียว แล้วร่วมกันสร้างสรรค์ตามคอนเซ็ปต์ที่ได้มา ในที่สุดก็ได้ 3 ทีมที่ชนะ ได้แก่
รางวัลที่ 1 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาอุตสาหกรรม ชั้นปีที่ 5 ประกอบด้วย พิริยะ จีนาพันธุ์, ณัชชา ชีวะโอสถ และ เมธัส วงษ์อารี ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร
พิริยะ จีนาพันธุ์ และทีม ได้เล่าด้วยความดีใจว่า- -
“ เราได้รับโจทย์กันมาสดๆ เป็นงานที่ยาก เพราะมีตั้ง 3 ไอเดีย แล้วเรามาเบรนด์สตรอมกัน ต้องมาตีโจทย์ทุกโจทย์ จุดอ่อนของผลิตภัณฑ์นี้เป็นแก้ว มีความเปราะบาง เสียหายง่าย ต้องระวัง ส่วนจุดแข็ง ต้องรับน้ำหนักได้ มีความแข็งต่อแรงกระแทก และหลายๆ อย่าง ในที่สุดก็ได้มาเป็นไอเดียในการทำ ‘ มหัศจรรย์แห่งงานแก้ว ’
- แพ็คเกจจิ้งที่ดี ต้องเป็นทรงสี่เหลี่ยม กระทัดรัด เพราะง่ายในการขนส่ง และในการเรียงจัดวางจะได้พื้นที่มากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องคำนึงถึง และแพ็คเกจจิ้งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้านั้นได้ด้วย ไม่ใช่เป็นแค่แพ็กเกจจิ้งธรรมดาที่ใส่สินค้ามาแล้วทิ้งเลย แต่เรายังสามารถนำมาใช้ได้ด้วย
...ฉะนั้นแพ็คเกจจิ้งจึงเป็นการผสมผสานระหว่างการตลาดและงานวิศวกรรม ทั้งยังบอกเล่าเรื่องราวสินค้านั้นๆ ได้อีกด้วย อยากจะสื่อถึงคุณค่าบอกเล่าเรื่องราวของงานฝีมือคนไทย ว่ามีกระบวนการทำ การคิด ด้วยความปราณีต เราจึงให้ชื่อว่า ‘มหัศจรรย์แห่งงานแก้ว’ ”
รางวัลที่ 2 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ภาควิชาเทคโนลียการบรรจุ ชั้นปี 4 ประกอบด้วย ภูวนัตถ์ ภูจิญญาน์, พฤทธิ์ศภกรณ์ เทพเจริญนิรันดร์ และ สง่าพล มหากิจ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร
ทั้งทีมต่างเล่าถึงที่มาของผลงานให้ฟังว่า- -
“สินค้าเป็นพวกแก้ว มีความเปราะบางง่าย ฉะนั้นบรรจุภัณฑ์ต้องมีความแข็งแรงในการเดินทางหรือการขนส่ง ฉะนั้นฐานที่ยึดผลิตภัณฑ์จึงเป็นจุดสำคัญ ที่จะต้องนิ่ง กันแรงกระแทกได้ดี โดยล็อคต้นไม้ให้อยู่กับที่ เราจึงยึดตรงนี้เป็นหลัก คือออกแบบข้างในก่อน ส่วนรูปทรงไม่ได้เน้นอะไรมาก ให้เป็นสี่เหลี่ยมเพื่อง่ายแก่การเก็บ การจัดวางในการขนส่ง
...ส่วนด้านนอกทำกราฟฟิกเน้นที่ไทยประยุกต์ เพราะเป็นงานศิลปหัตถกรรมไทย ทั้งยังได้บอกเรื่องราวต่างๆ ของการส่งเสริมศิลปาชีพ เพื่อการอนุรักษ์ศิลปะที่ทรงคุณค่าไว้เป็นอาชีพของคนไทย ทั้งยังได้เล่าเรื่องที่มาของการเป่าแก้วอีกด้วย เพื่อเป็นข้อมูลความรู้ให้กับผู้รับสินค้านั้น”
รางวัลที่ 3 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ ชั้นปี 4 ประกอบด้วย นฤมล ไทรงาม, วรินทร กิติสุข และ ชลธิชา ผึ่งผาย ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร
สองสาวเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า- -
“ เป็นครั้งแรก ไม่เคยเข้าประกวดที่ไหนมาก่อนเลย รู้สึกดีใจมาก ถือเป็นครั้งแรกของการประกวด นับเป็นประสบการณ์ที่ดี
...เราเน้นถึงการขนส่งง่าย ปลอดภัย ในการทำเราใช้กระดาษเพียงชิ้นเดียวมาทำเป็นรูปกล่อง ถือง่าย สะดวก
...ส่วนกราฟฟิก เราได้สินค้าเป็นต้นมะละกอ ก็เลยคิดกราฟฟิก สื่อด้วยวิธีง่ายๆ เป็นต้นมะละกอ อยู่บนฐานที่เราแทนเป็นดินให้ยึดเกาะให้แน่น มีเรื่องราวของคนเป่าแก้ว ขั้นตอนการทำ ความรู้แทรกเอาไว้ แล้วเพื่อความประหยัดเราใช้สีเพียงสีเดียว แต่คงไว้ซึ่งความคลาสสิกค่ะ”
แล้วหลังจากนั้น ทั้ง 3 ทีม จะได้เข้าร่วมเดินทางกับทีมประเภทอื่นๆ ไปประกวด “Thai Star Packaging Awards 2008” พร้อมจะประกาศผลและมอบรางวัลในเดือนสิงหาคม 2551
“ศ.ศ.ป. มีนโยบายในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมในอนาคต ซึ่งจะดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ระยะยาว โดยจะเข้าไปร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน ที่มีศักยภาพด้านการพัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ อาทิ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม / สำนักพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่า กรมส่งเสริมการส่งออก / สมาคมบรรจุภัณฑ์ไทย / มหาวิทยาลัยศิลปากร / TCDC และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้ได้มีการพัฒนางานด้านบรรจุภัณฑ์ของงานศิลปหัตถกรรมได้ทุกหมวดหมู่ และครบวงจร เพื่อยกระดับมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ไทยสู่ระดับโลก” กรรมการผู้อำนวยการ ศ.ศ.ป. กล่าวปิดท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม:
บริษัท กู๊ด เน็ตเวิร์ค จำกัด โทร. 02 - 946 — 8470
ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ในนามศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ