นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน (บ่อจิ๋ว) ขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ทำการเกษตรนอกเขตชลประทาน หรือในพื้นที่ระบบส่งน้ำชลประทานไปไม่ถึง ช่วยเพิ่มผลผลิตและรายได้ แก่เกษตรกร อีกทั้งยังเป็นการบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกร เพื่อให้มีอายุการใช้งานได้นานจำเป็นต้องมี
การบำรุงรักษาบ่อจิ๋วอย่างเหมาะสม เช่น ปลูกหญ้าแฝกรอบขอบบ่อเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน และชะลอการสะสมของตะกอน ในบ่อ ซึ่งจะทำให้การเก็บกักปริมาณน้ำในบ่อน้อยลง ควรตรวจสอบสภาพ ปริมาณและคุณภาพน้ำในบ่ออย่างต่อเนื่อง หากปริมาณน้ำในบ่อน้อย เกษตรกรต้องเพิ่มปริมาณน้ำในบ่อช่วงฤดูฝน โดยกำหนดทิศทางการไหลของน้ำฝนในพื้นที่อื่นให้ไหลเข้าบ่อมากที่สุด ในฤดูแล้งมีวิธีเติมน้ำลงบ่อโดยสูบน้ำใต้ดิน ด้วยระบบโซล่าเซลล์เพื่อสะสมน้ำในบ่อให้เพียงพอต่อกิจกรรมทางการเกษตร ในด้านคุณภาพน้ำควรมีการเลี้ยงปลากินพืช เช่น ปลานิล ไว้เป็นอาหารสำหรับเกษตรกร และมีการใช้ปุ๋ยหมักวางไว้ขอบบ่อเพื่อเป็นการรักษาคุณภาพของน้ำในบ่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ของแหล่งน้ำในไร่นาอย่างถูกต้องเหมาะสม
ผลสำเร็จการดำเนินโครงการแหล่งน้ำในไร่นาฯ โดยในจังหวัดหนองคาย ในพื้นที่ของนางยุพิน โคตรหนองปิง อยู่ที่บ้านบูรพา ต.อุดมพร อ.เฝ้าไร่ จ.หนองคาย เข้าร่วมโครงการฯ เมื่อปี 2561 ปัจจุบันได้ปลูกหญ้าแฝก รอบบริเวณขอบบ่อ และปรับปรุงดินบริเวณขอบบ่อ ด้วยการใส่ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยคอก รวมทั้งตัดหญ้ามาคลุมดินตามทฤษฎี "ปรุงดิน เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช" และวางแผนการปลูกพืชผสมผสานหลากหลายชนิดสำหรับไว้บริโภค และนำส่วนหนึ่งไปจำหน่าย ได้ติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ รวมทั้งเจาะบ่อน้ำตื้น ความลึก 40 เมตร เพื่อวางแผนการใช้น้ำในพื้นที่ โดยสูบน้ำจากบ่อน้ำตื้น มาเติมลงในสระน้ำ ทำให้มีน้ำใช้ตลอดปี โดยพื้นที่ 7 ไร่ ปลูกข้าว กข.15 และ กข.6 มีผลผลิตเฉลี่ย 570 กก.ต่อไร่ มีกำไรจากข้าว 4,300 บาทต่อไร่ และยังมีข้าวไว้บริโภคตลอดปี มีรายได้จากการปลูกกระเทียมและพริกไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อปี มีรายได้และอาหารโปรตีนจากปลาในบ่อตลอดปี นอกจากนี้ยังสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ปลาแห้ง ปลาร้า ไว้บริโภคในครัวเรือน และนำไปจำหน่าย ถือเป็นการสร้างรายได้ สร้างความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์พื้นที่ และสร้างความมั่นคงในการดำรงชีพได้เป็นอย่างดี