โรคตา.. ปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุที่ต้องเตรียมรับมือ

ข่าวทั่วไป Monday July 17, 2023 16:30 —ThaiPR.net

โรคตา.. ปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุที่ต้องเตรียมรับมือ

โรคตา.. ปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุที่ต้องเตรียมรับมือ

เมื่ออายุมากขึ้นอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของเราก็ย่อมเสื่อมสภาพไปตามวัยเป็นเรื่องปกติและอีก1 ปัญหาที่เรามักจะพบได้บ่อยเมื่ออายุมากขึ้นนั้นก็คือ ปัญหาทางด้านสายตา โดนผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 70 มีสายตาไม่ดี การมองเห็นไม่ชัดเจน เกิดภาวะสายตาเลือนรางหรืออาจตาบอดถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรก ดังนั้นผู้ใกล้ชิดหรือลูกหลานควรมั่นสังเกตปู่ย่า ตายาย หรือผู้สูงอายุในบ้านว่ามีความผิดปกติของสายตาเกิดขึ้นหรือไม่ จะได้รีบพาท่านไปพบจักษุแพทย์ตรวจรักษาก่อนที่จะสูญการมองเห็นถาวรนั่นเอง...

โดยโรคและปัญหาทางตาที่มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุได้แก่ 

  • ตาแห้ง (Dry Eyes) เป็นโรคตาที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุและในวัยทำงาน มีอาการไม่สบายตา ระคายเคือง เหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา แสบตาหรืออาจน้ำตาไหลมากได้ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การทำงานผิดปกติของต่อมไขมันที่เปลือกตา การใส่คอนแทคเลนส์ การใช้หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์นานๆ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โรคหรือการทานยาบางชนิด หากปล่อยไว้ไม่ได้รักษาอาจทำให้การมองเห็นมัวลง มีการอักเสบของเยื่อบุตาหรือกระจกตา การรักษาตาแห้งขึ้นกับสาเหตุ มักต้องใช้น้ำตาเทียมร่วมกับ ปรับพฤติกรรมการใช้งานสายตาหรือทำความสะอาดเปลือกตากรณีมีเปลือกตาผิดปกติ
  • ต้อกระจก (Cataract) เกิดจากความขุ่นมัวของเลนส์แก้วตาธรรมชาติ สาเหตุส่วนใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงตามอายุที่มากขึ้น ทำให้แสงผ่านเข้าไปที่จอตาประสาทด้านในลูกตาได้น้อยลง ผู้ป่วยจะมีอาการตามัวและเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาอาจตาบอดได้ วิธีการรักษาคือการผ่าตัดเอาเลนส์ตาที่ขุ่นออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียมแทนที่
  • ต้อหิน (Glaucoma) ถือเป็นภัยเงียบที่อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้โดยที่ผู้ป่วยไม่ทันรู้ตัว เกิดจากความดันในลูกตาที่สูงขึ้นจนมีการทำลายประสาทตา ปัจจัยเสี่ยงคืออายุที่เพิ่มมากขึ้น มีคนในครอบครัวที่เป็นต้อหินหรือมีโรคประจำตัวที่ต้องใช้ยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องฯลฯโรคนี้มักไม่มีอาการ จะเริ่มสูญเสียลานสายตา คือการมองเห็นจำกัดวงแคบลงเรื่อยๆ และสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร อาจมีต้อหินบางประเภท เช่น ต้อหินมุมปิดเฉียบพลันที่มีอาการปวดมาก ตามัวลงและตาแดง ถือเป็นภาวะเร่งด่วนมากต้องมาพบจักษุแพทย์ทันที สำคัญที่สุดคือผู้ป่วยต้องมาตรวจติดตามอาการและปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • โรคจุดภาพชัดจอตาเสื่อม (Macular Degeneration) เกิดจากภาวะเสื่อมของจุดภาพชัดที่อยู่ส่วนกลางของจอตา ทำให้การมองเห็นส่วนกลางของภาพมัวลง โดยที่บริเวณรอบข้างยังเห็นได้ปกติ ในระยะเริ่มต้นอาจไม่มีอาการ เมื่อจอตาเสื่อมมากขึ้นจะมีอาการตามัว เห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นจุดดำตรงกลางภาพ และสูญเสียการมองเห็นตรงกลางภาพโดยไม่มีอาการปวดมักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิด เช่น แสงรังสี UV สูบบุหรี่ และโรคความดันโลหิตสูง
  • เบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic Retinopathy) สาเหตุมาจากโรคเบาหวานทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดฝอยส่งผลให้ขาดเลือดและออกซิเจนที่ไปเลี้ยงจอตากระตุ้นให้เกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่อย่างผิดปกติที่จอประสาทตา ซึ่งความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้นไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติได้ การรักษาจึงได้เพียงแค่ไม่ให้โรคลุกลามไปจากระยะที่เป็นอยู่ การป้องกันที่ดีที่สุดคือการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติรวมทั้งดูแลโรคประจำตัวอื่นๆ เช่นความดันโลหิตสูง โรคไต ไขมันในเลือดสูงอย่างเหมาะสม และตรวจตาโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • ภาวะสายตายาวในผู้สูงอายุ ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน ผู้ป่วยจะอ่านหรือเขียนหนังสือ ทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในระยะใกล้ไม่ชัดเจน แต่มองไกลได้ปกติ บางคนมีอาการตาพร่า หรือปวดตา มักเริ่มมีอาการเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากความสามารถและระยะในการเพ่งปรับสายตาลดลง เลนส์แก้วตาแข็งตัวขึ้นและการทำงานของกล้ามเนื้อตาลดลง สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้แว่นสายตา แต่ควรมาตรวจกับจักษุแพทย์ให้แน่ใจว่า ไม่มีความผิดปกติของโรคตาอื่นๆร่วมด้วย

นอกจากนี้การดูแลสุขภาพของตัวเอง ด้วยการสวมแว่นกันแดดเป็นประจำ ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสายตาพวกวิตามินเอและโปรตีน เช่น ผักและผลไม้ 5 สี ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ก็สามารถช่วยชะลอป้องกันความเสื่อมของดวงตาได้อีกทางนะครับ..

** ผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งการตรวจคัดกรองดวงตาไม่เพียงช่วยให้เราค้นพบความผิดปกติของดวงตาในระยะเริ่มแรก แต่ยังช่วยให้ค้นพบโรคเกี่ยวกับดวงตาในขณะที่ยังไม่แสดงอาการ ทำให้สามารถรักษาได้ทันชะลอความเสื่อม และป้องกันการสูญเสียดวงตาได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ