กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--กทม.
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ประชุมร่วมกับตัวแทนจากคณะอนุกรรมการของศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ศตส.กทม.) จำนวน 7 คณะ และคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อรับทราบข้อมูลการดำเนินการแก้ปัญหายาเสพติด ณ ห้องประชุม 6 สภากรุงเทพมหานคร
นายชัชกุล รัตนวิบูลย์ ผู้อำนวยการกองตรวจและปฏิบัติการพื้นที่ 1 สำนักเทศกิจ ตัวแทนจากคณะอนุกรรมการบูรณาการและกำกับติดตามการดำเนินงานในพื้นที่และจัดระเบียบสังคม กล่าวว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดของกรุงเทพมหานครใช้กลไกในการบูรณาการ และดำเนินการตามนโยบายการจัดระเบียบสังคมร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เพิ่มความเข้มงวดในมาตรการการตรวจตรา ควบคุม และดูแลสถานประกอบการให้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การเปิดบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต การเปิดเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด การให้เด็กและเยาวชนอายุไม่ถึง 20 ปีเข้าใช้บริการ เป็นต้น หากมีการกระทำผิดในกรณีดังกล่าวหรือฝ่าฝืนกฎหมายจะมีการดำเนินคดีอย่างจริงจัง ตลอดจนเข้มงวดด้านการปราบปรามตู้ม้าและตู้เกม และการบังคับใช้กฎหมายให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์และการปฏิบัติ
นายโกวิท ยงวานิชจิต ผู้อำนวยการป้องกันและบำบัดยาเสพติด ตัวแทนจากคณะอนุกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาผู้เสพและผู้ติดยาเสพติด กล่าวเสริมว่า สถานการณ์ปัญหายาเสพติดในภาพรวมยังอยู่ในระดับรุนแรง ซึ่งการแก้ไขปัญหายังมีอุปสรรค ทั้งด้านสถานที่ในการบำบัด งบประมาณไม่เพียงพอ โดยในปี 51 สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ประมาณการผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในกรุงเทพมหานคร จำนวน 91,658 คน และจากการตรวจสอบชุมชนในพื้นที่เสี่ยงในกรุงเทพมหานคร พบว่ามีจำนวน 89 ชุมชน 35 เขต ที่เป็นปัญหาหลัก ได้แก่ ยาบ้า นอกจากนั้นยังมีปัญหาการใช้กระท่อมและสารระเหยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านการดำเนินงานการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ได้ผลจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยน วิธีคิด วิธีดำเนินงาน โดยเร่งปลุกกระแสสังคมให้ประชาชนคนไทยมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงพิษภัยของยาเสพติด ด้านการบำบัดรักษาแบ่งเป็น 3 ระบบ คือ ระบบสมัครใจ ระบบบังคับบำบัด และระบบต้องโทษ ซึ่งการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดคือการชักจูงผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดให้เข้าสู่ระบบสมัครใจเพื่อเข้ารับการบำบัดรักษา เพื่อป้องกันการหลบหนี และกลับไปสู่วงจรการติดยา ซึ่งต้องมีการติดตาม ช่วยเหลือ ฟื้นฟูผู้ที่ผ่านการบำบัดให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข มีการศึกษาที่ดี มีอาชีพ และมีรายได้
ทั้งนี้ นายวิสูตร สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง กล่าวเติมว่า ควรมีการปรับปรุงผู้ที่ดูแลชุมชน ให้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของยาเสพติด และต้องมีการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงทุกครั้งที่มีการส่งข้อมูลเรื่องยาเสพติดของแต่ละชุมชนเพื่อความชัดเจน อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหายาเสพติดที่ได้ผลและมีประสิทธิภาพ ด้านสถานศึกษาควรเร่งแก้ปัญหาด้านวัฒนธรรม พฤติกรรม และให้ความรู้เรื่องโทษของยาเสพติด เพื่อให้เยาวชนตระหนักถึงพิษภัย และไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งนี้ทางคณะกรรมการวิสามัญฯ จะทำการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง ผลดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรคในการแก้ไขปัญหาด้านยาเสพติดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปเป็นแนวคิดและข้อเสนอแนะในการพัฒนา ปรับปรุงแผนการปฏิบัติงานด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การลดปริมาณของผู้เสพ ผู้ขาย และปัญหาสังคมให้น้อยลงด้วย