นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการสำรวจตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่ 50 เขต และการเพิ่มความเข้มงวดกวดขันควบคุมคุณภาพมาตรฐานว่า ผู้บริหาร กทม.มีความห่วงใยเรื่องตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จึงมีหนังสือสั่งการให้สำนักงานเขตตรวจสอบด้านสุขลักษณะ (กายภาพ) ตรวจคุณภาพน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญและกวดขันให้ผู้ประกอบการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่มีใบอนุญาตดำเนินการขอใบอนุญาต โดยตั้งแต่เดือน เม.ย.66 ถึงปัจจุบัน สำนักงานเขตตรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 3,031 แห่ง พบว่า มีใบอนุญาต 2,759 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต 272 แห่ง ซึ่งในรายที่ยังไม่มีใบอนุญาตได้ออกแบบตรวจแนะนำของเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข (นส.1)
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบด้านสุขลักษณะ (กายภาพ) ทั้งหมด 1,430 แห่ง ผ่าน 1,245 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 94.05 ไม่ผ่าน 85 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 5.95 และตรวจสอบด้านคุณภาพน้ำด้วยน้ำยาทดสอบโคลิฟอร์มในน้ำและน้ำแข็ง (อ.11) จำนวน 1,401 แห่ง ผ่าน 1,385 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 98.85 ไม่ผ่าน 16 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1.15 โดยในรายที่ไม่ผ่าน สำนักงานเขตได้แจ้งผู้ประกอบการแก้ไขข้อบกพร่องเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกัน กทม.ได้กำกับดูแลสุขลักษณะตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานเขตตรวจสุขลักษณะตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอย่างสม่ำเสมอและตรวจสอบคุณภาพน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทุก ๆ 4 เดือน ด้วยน้ำยาทดสอบโคลิฟอร์มในน้ำและน้ำแข็ง (อ.11) เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพของน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญให้ประชาชน ได้บริโภคน้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัย ส่วนการดำเนินการด้านกฎหมายของสำนักงานเขตกรณีตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ในรายที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต ให้ออกคำแนะนำด้วยแบบตรวจแนะนำของเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 (นส.1) หากไม่ดำเนินการขออนุญาตให้ส่งดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนมาตรา 33 มีโทษตามมาตรา 71 การประกอบการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนั้น สนอ.ยังได้จัดทำสื่อให้สำนักงานเขตประชาสัมพันธ์แนวทางการเลือกใช้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญสำหรับประชาชน ดังนี้ (1) สภาพภายนอกตู้น้ำดื่ม ควรเลือกตู้ที่สะอาด บริเวณที่วางภาชนะบรรจุที่วางรองรับน้ำรวมทั้งหัวจ่ายน้ำจะต้องสะอาดไม่มีคราบสนิม หรือตะไคร่น้ำ (2) การตรวจสอบคุณภาพ ตรวจสอบคุณภาพของเครื่องและไส้กรอง พร้อมทั้งติดสติกเกอร์แสดงข้อความบอกวัน เวลาที่เข้าตรวจสอบ โดยให้สังเกตข้อความดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค (3) การสังเกตตรวจดูสภาพน้ำที่ได้จากตู้น้ำดื่มด้วยตนเอง ให้สังเกตสี ความขุ่น-ใส กลิ่นและรสชาติของน้ำ มีความผิดปกติหรือไม่อย่างไร โดยเปรียบเทียบจากคุณภาพน้ำที่เคยใช้เป็นประจำ หรือจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญตู้อื่น ๆ บริเวณใกล้เคียง (4) ไม่สัมผัสหัวจ่ายน้ำด้วยมือ หรือวัสดุอื่นใด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคในน้ำดื่ม (5) ภาชนะบรรจุที่จะนำไปบรรจุน้ำดื่ม ควรเป็นภาชนะที่สะอาดและมีขนาดพอดีกับปริมาณน้ำที่ซื้อ และควรล้างภาชนะบรรจุด้วยน้ำที่กดจากตู้น้ำดื่มด้วยปริมาณเล็กน้อย เขย่าให้ทั่วภาชนะบรรจุแล้วเททิ้ง ทำเช่นนี้ 1-2 ครั้ง แล้วจึงเติมน้ำต่อ เพื่อความสะอาดและปลอดภัย อย่างไรก็ตาม กทม.และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะได้ประชุมหารือแนวทางและการประสานความร่วมมือกำกับดูแลตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพฯ และจะได้นำแนวทางจากการประชุมเข้าหารือร่วมกับฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลทั้ง 50 สำนักงานเขตในวันที่ 27 ก.ค.นี้ เพื่อเร่งรัด กำกับ ติดตามให้ผู้ประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญดูแลและบำรุงรักษาตู้น้ำดื่มให้ได้มาตรฐานต่อไป