กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--สวทช.
จาก 17 ผลงาน 4 ประเภท ฝ่าด่านเข้าสู่รอบตัดเชือก ทั้งจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา หน่วยงาน และกลุ่มธุรกิจจากทั่วประเทศ ชูแนวคิดและความสามารถคนไทยสู่งานผลงานนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการกำจัด ชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และรางวัลรวมกว่า 300,000 บาท
เครือข่ายการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจไทย (Thai Green Design Network: TGDN) ภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ กระทรวงอุตสาหกรรม ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) สำนักนายกรัฐมนตรี จัดงานประกาศผลการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 ประจำปี 2551 (Thailand EcoDesign Award) ชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และรางวัลรวมกว่า 300,000 บาท ซึ่งจัดขึ้นเพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยผ่านผลงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อร่วมกระตุ้นให้คนไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ วุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล รวมทั้งได้รับความสนใจจากแขกผู้มีเกียรติ สื่อมวลชน คณะกรรมการการตัดสิน ผู้เชี่ยวชาญในวงการผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมชมร่วมเชียร์ผลงานกันอย่างคับคั่ง ณ ลาน ฟอรัม ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า
ภายในงานประกาศผล มีการแสดงผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายทั้ง 17 ชิ้น จากผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 222 ชิ้น โดยแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ปลาย หรือเทียบเท่า ประเภทที่ 2 นิสิต / นักศึกษาระดับอนุปริญญาตรี ปริญญาตรี/โท หรือเทียบเท่า ในหัวข้อ “การออกแบบโดยใช้หลักการด้าน 3Rs คือ ลดการใช้ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งในส่วนของพลังงานและวัสดุ” ส่วนประเภทที่ 3 ประเภทนักออกแบบอิสระ ประชาชนทั่วไป และประเภทที่ 4 ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม บริษัทต่างๆ ซึ่งมีที่ตั้งในประเทศไทย ในหัวข้อ “การออกแบบโดยพิจารณาตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์”
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสร้างสีสัน โดยเชิญชวนผู้สนใจ รวมทั้งสื่อมวลชนร่วมให้คะแนนผลงานที่ชื่นชอบ เพื่อตัดสินรางวัลผลงานยอดนิยม หรือ “ป๊อปปูล่า โหวต” อีกด้วย สำหรับจุดเด่นของการประกวด Thailand EcoDesign Award อยู่ที่ผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่นอกจากรูปลักษณ์การออกแบบหรือดีไซน์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การผลิตได้จริง รวมถึงสามารถต่อยอดได้แล้ว ยังจะต้องสามารถชี้ให้เห็นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรของผลิตภัณฑ์ โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิต จนถึงกระบวนการการทำลาย ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลจะต้องสื่อถึงแนวคิดดังกล่าวได้อย่างครบถ้วน และสมบูรณ์ที่สุด โดยมีการพิจารณาตัดสินจากคณะกรรมการในแวดวงต่างๆ ถึง 3 รอบ ตั้งแต่เป็นร่างแนวคิดผลงาน (Concept Paper) จนถึงรอบสุดท้ายที่ต้องพัฒนาเป็นผลงานจริงในรอบชิงชนะเลิศ อนึ่ง ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศ จะได้รับรางวัลต่างๆ ดังนี้ ประเภทที่ 1 ไม่มีผลงานใดได้รับรางวัลชนะเลิศ และรางวัลรองชนะเลิศมีเพียงรางชมเชย 3 รางวัลได้แก่ “วัสดุทดแทนโฟมจากเส้นใยพืช” โดยทีม Plantdesignจาก โรงเรียนสามพรานวิทยา “เยื่อกระดาษตะไคร้เสริมยางอเนกศิลป์” โดยทีม NumberOne จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา และ “การนำกระแสไฟฟ้าเหนี่ยวนำจากจักรยานและพัดลม” ของนายมานพ กิมะโนและนายสิทธิชัย ยางธิสาร จากโรงเรียนปลาปากวิทยา ประเภทที่ 2 รางวัลชนะเลิศ “Disposal multi-films food plate” โดยทีม PE-SUT จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้รับถ้วยพระราชทานฯ เงินรางวัล 30,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศ “มูลี่ประหยัดความเย็น” ของนายศราวุฒิ แก้วรอด จากมหาวิทยาลัยรังสิต ได้เงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมทั้งสิทธิการเป็นสมาชิก TCDC, เกียรติบัตรและโล่รางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเภทที่ 3 ไม่มีผลงานใดได้รับรางวัลชนะเลิศ, ส่วน รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ “ฟิล์มสำหรับบรรจุเนื้อสัตว์สดจากวุ้นมะพร้าว (แบคทีเรีย เซลลูโลส) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ผลงานจากทีม Dreampixel ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมทั้งสิทธิการเป็นสมาชิก TCDC, เกียรติบัตรและโล่รางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเภทที่ 4 รางวัลชนะเลิศ “แบตเตอรี่ FB Super Gold” ผลงานของทีม FB Super Gold Battery จากบริษัท สยามฟูรูกาว่า จำกัด ได้รับโล่พระราชทานฯ, สิทธิการเป็นสมาชิก TCDC, เกียรติบัตรและได้รับการสนับสนุนทางเทคนิคด้านต่างๆ ที่จะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น การทำต้นแบบ การวิเคราะห์ (มูลค่าไม่เกิน 100,000 บาท) ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ “Eco Glass Set” โดยทีม Life Pleasure จากบริษัท โอเชี่ยนกลาส จำกัด (มหาชน) ได้รับโล่รางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สิทธิการเป็นสมาชิก TCDC, เกียรติบัตรและได้รับการสนับสนุนทางเทคนิคด้านต่างๆ ที่จะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น การทำต้นแบบ การวิเคราะห์ (มูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท) สำหรับรางวัลพิเศษ “รางวัลป๊อปปูล่า โหวด” ซึ่งจะเป็นผลงานที่ชนะใจผู้มาร่วมงานและสื่อมวลชน ภายในงานวันประกาศผล ได้แก่ “มูลี่ประหยัดความเย็น” ของนายศราวุฒิ แก้วรอด จากมหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท
สามารถติดตามผลการประกาศรางวัลได้ทางเวปไซต์โครงการ http://www.mtec.or.th/EcoDesign2008