สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) เตือนประชาชนที่ลงเล่นน้ำทะเลระมัดระวังแมงกะพรุนหัวขวด โดยเฉพาะในช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (พัดผ่านจากบกลงทะเลฝั่งตะวันออก) หรือพบป้ายแจ้งเตือนระวังแมงกะพรุน แนะไม่ควรลงเล่นน้ำ และหากพบผู้ที่สงสัยถูกพิษแมงกะพรุน ห้ามขัดถูหรือขยี้ในบริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุน เพราะจะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นจากการกระจายของพิษแมงกะพรุน
แมงกะพรุนหัวขวด มีลักษณะส่วนบนลอยโผล่พ้นน้ำคล้ายลูกโป่งรูปร่างรี ยาว คล้ายหมวกของทหารเรือชาวโปรตุเกส มีหนวดยาวสีฟ้าหรือสีม่วง มีเข็มพิษ (nematocyst) สำหรับป้องกันตัวและจับเหยื่อ กระจายอยู่ทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหนวด (tentacle) สำหรับพิษของแมงกะพรุนหัวขวด มีผลต่อระบบประสาท หัวใจ และผิวหนัง ส่วนใหญ่ผู้ที่สัมผัสพิษจะมีอาการคัน และปวดแสบปวดร้อนในเบื้องต้น การแสดงอาการของพิษในผู้ป่วยแต่ละบุคคลความรุนแรงจะต่างกัน ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกาย ความต้านทาน และปริมาณพิษที่ได้รับ
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึง สถานการณ์การบาดเจ็บจากแมงกะพรุน ตั้งแต่ 1 มกราคม - 18 กรกฏาคม 2566 มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จากการสัมผัสแมงกะพรุน จำนวน 2 ราย อายุ 7 ปี และ 19 ปี เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ตำแหน่งที่สัมผัสพิษแมงกะพรุนส่วนใหญ่ คือบริเวณมือ เนื่องจากผู้ได้รับบาดเจ็บลงไปเล่นน้ำทะเล บริเวณชายหาดสมิหลาและชายหาดชลาทัศน์ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
"สคร.12 สงขลา เน้นย้ำผู้ปกครองให้คำแนะนำบุตรหลาน ไม่ควรลงเล่นน้ำหากพบป้ายแจ้งเตือนระวังแมงกะพรุน หากลงเล่นน้ำทะเล ขอให้สวมเสื้อผ้าที่มิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาวแนบตัว"
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากได้รับบาดเจ็บจากพิษแมงกะพรุน แนะนำให้ใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุนอย่างน้อย 30 วินาที และให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที ทั้งนี้ เมื่อพบผู้บาดเจ็บจากการถูกพิษแมงกะพรุน "ห้ามใช้น้ำแข็ง น้ำเปล่า เหล้า โซดา หรืออื่นๆ ไปเทราดเป็นอันขาด" เนื่องจากจะกระตุ้นพิษให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ห้ามถูหรือขยี้ เพราะจะทำให้พิษยิ่งแพร่กระจายมากขึ้น ที่สำคัญเลี่ยงการใช้เทคนิคพันรัดแน่นด้วยผ้ายืด และอย่าเก็บแมงกะพรุนที่ตายแล้วด้วยมือเปล่าหรือนำมาเล่น เพราะต่อมพิษยังสามารถปล่อยพิษได้ หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422