นักศึกษาหลักสูตรดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และรางวัลชมเชย จากการแข่งขันกิจกรรม Digital in Hand จุดแคมเปญเค้นไอเดีย ศิลปะป้องกันตัวจากภัยออนไลน์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิริวัจนา แก้วผนึก หัวหน้าหลักสูตรดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อ สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) เปิดเผยว่า หลังจากที่หลักสูตรดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อ มวล.ได้ส่งนักศึกษาเข้าร่วมเวที ETDA Digital Citizen Pitching ภายใต้หัวข้อ "Digital in Hand จุดแคมเปญ เค้นไอเดีย ศิลปะป้องกันตัวจากภัยออนไลน์"ซึ่งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ร่วมกับ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย พร้อมด้วยศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท และ บริษัท เด็กดี อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด (Dek-D) ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อค้นหาสุดยอดแคมเปญ กิจกรรม หรือสื่อประชาสัมพันธ์ที่จะเข้ามาเป็นกลไกในการร่วมผลักดันและส่งเสริมให้คนไทยเกิดความรู้ ความเข้าใจในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และรู้เท่าทัน ภัยออนไลน์ โดยมีนิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่สนใจ ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดจำนวนมาก โดยในส่วนของม.วลัยลักษณ์ มีทีม Powerpoint Girls และทีม To be creator ผ่านเข้ารอบ10ทีมสุดท้ายด้วย
โดยเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทางผู้จัดได้มีการจัดกิจกรรมแข่งขันในรอบการนำเสนอแนวคิด "ETDA Digital Citizen Pitching" รอบชิงชนะเลิศแล้ว ผลปรากฏว่า ทีมนักศึกษาหลักสูตรดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อ มวล. สามารถคว้ารางวัลมาได้สำเร็จจำนวน 2 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Powerpoint Girls สมาชิกในทีม นางสาวสริดา แซ่ตัน ,นางสาวสุธาสินี ขาวทอง และนางสาวอรินดา ได้รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท พร้อมเกียรติบัตรและโล่รางวัล และรางวัลชมเชย ได้แก่ทีม To be creator สมาชิกในทีม นางสาวอัมนี หมัดอาด้ำ ,นางสาวดีน่า คินาซิ อัตตา ชาคิฟ และนายอธิษฐ์ งอกคำ ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร โดยทั้ง 2 ทีมมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิริวัจนา แก้วผนึก เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และ นายเมธัส อินทร์ทองปาน นักวิชาการประจำหลักสูตรเป็นผู้ควบคุมทีม
นางสาวสริดา แซ่ตัน ตัวแทนทีม Powerpoint girls กล่าวว่า ผลงานของทีม Powerpoint girls ที่สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มาครองได้สำเร็จ มาจากแผนรณรงค์ "ออนไลน์เมื่อพร้อม" ซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากปัญหาคอนเทนต์ของผู้เยาว์ที่เป็นการเลียนแบบพฤติกรรมผู้ใหญ่ เช่น การสูบบุหรี่ไฟฟ้า การใช้แอคล็อค หรือพฤติกรรมความรุนแรง โดยจากสถิติเด็กและเยาวชนอายุ 6-18 ปี เป็นช่วงวัยที่ใช้โซเชียลมีเดียมากที่สุดถึง 85.8% โดยแผนรณรงค์นี้จัดทำเป็น 3 เฟส คือ 1) เผยแพร่หนังสั้น "คอนเทนต์ต้องห้าม" 2) ให้คนดูมีส่วนร่วมกับหนัง Challenge TikTok และ Reaction และ 3) ให้ความรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อ Digital Footprint และกฏหมายเผยแพร่สื่อลามก โดยยกประเด็นจากหนังสั้นเป็นตัวอย่างประกอบ
นางสาวอัมนี หมัดอาด้ำ ตัวแทนทีม To be creator กล่าวว่า ทีมได้ส่งแผนรณรงค์ "Creator วัยใสรู้ภัยออนไลน์" โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนอายุ 13-15 ปี ที่ต้องการมีอาชีพ สร้างรายได้ หรือมีชื่อเสียงจากการเป็น Content Creator หรือ Youtuber โดยยังไม่รู้เท่าทันภัยออนไลน์ เป้าหมายของแผนรณรงค์ คือ ต้องการสร้างชุมชนของ Content Creator วัยใสและสนับสนุนให้ Content Creator ช่วยขับเคลื่อนสังคมผ่านทางโลกออนไลน์ ด้วยวิธีการ คือ 1) การให้ความรู้ผ่าน "Createst Game" และ 2) การทำ Content "ชวนเพื่อนเป็น Creator" ส่งผลให้ทีม Powerpoint Girls และทีม To be creator จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สามารถคว้ารางวัลดังกล่าวมาได้สำเร็จ