"วิกฤตกาแฟต้นน้ำกับการตัดป่า" ความท้าทายที่สั่นคลอนโลกกาแฟ ร่วมกันส่งต่อ "องค์ความรู้ ฟื้นฟูธรรมชาติ" ทางออกสร้างความยั่งยืนให้กาแฟไทย

ข่าวบันเทิง Tuesday July 25, 2023 08:32 —ThaiPR.net

ท่ามกลางกระแสความนิยมที่พุ่งสูง ส่งผลให้ "กาแฟ" ในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง สร้างโอกาสใหม่ ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ชุมชน และสังคม แต่สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป (Climate Change) กำลังเข้ามาเป็นภัยร้ายสั่นคลอนโลกกาแฟ ซึ่งไม่เพียงทำให้พื้นที่เหมาะสมในการเพาะปลูกลดลง คุณภาพและรสชาติกาแฟแย่ลง แต่ยังนำไปสู่ตลาดที่แคบลงทำให้ราคากาแฟแพงขึ้น ในงาน Thailand Coffee Fest 2023 เปิดเวทีเสวนา "วิกฤตกาแฟต้นน้ำกับการตัดป่า"ชวนคนกาแฟต้นน้ำถึงปลายน้ำ ร่วมสะท้อนปัญหาและแนวทางสร้างความยั่งยืนให้กับกาแฟไทย

นายวิทยา ไพศาลศักดิ์ อดีตผู้อำนวยการส่วนประสานงานโครงการพระราชดำริภาคเหนือ สำนักสนองงานพระราชดำริ กรมอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และการตัดไม้ทำลายพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เป็นเสมือนแท้งค์น้ำบนภูเขาทำให้เกิดความแห้งแล้งในพื้นที่ปลูกกาแฟต้นน้ำหลายจังหวัด ทั้งแม่ฮ่องสอน น่าน ลำปาง และเขียงใหม่ เป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของกาแฟไทย เพราะกาแฟดีที่คนส่วนใหญ่ชื่นชอบต้องมีความฉ่ำ ปลูกใต้ป่าสมบูรณ์ที่มีร่มเงา ในขณะที่โลกร้อนขึ้นก็ส่งกระทบทำให้ผลผลิตลดลง เนื่องจากกาแฟเป็นพืชที่ต้องการอุณหภูมิ 18-24 องศา โดยปากใบจะเริ่มปิดไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ หากอุณหภูมิสูงเกิน 24 องศา

ดังนั้น แนวทางแก้ปัญหาคือ หยุดและสร้าง โดยหยุดทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หยุดทำลายป่า หยุดสิ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งตอนนี้ภาครัฐเริ่มมีนโยบายและกฎหมายเข้ามาบังคับใช้แล้ว ส่วนการสร้างเป็นเรื่องของคนรักกาแฟ ทำได้ด้วยการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ สร้างวัฒนธรรมการดื่มกาแฟจากคนปลายน้ำ เพื่อนำไปบอกคนต้นน้ำบนดอยให้ปลูกกาแฟใต้ป่าที่สมบูรณ์ เพราะจะเป็นกาแฟที่ดี มีความอร่อยมากกว่ากาแฟที่ปลูกในที่โล่ง แม้ตอนนี้คนบนดอยจะเริ่มปลูกป่ากันบ้างแล้ว แต่ก็ไม่เพียงพอ ดังนั้น คนข้างล่างก็ต้องขึ้นไปช่วยกันด้วย ต้องต่อจิ๊กซอว์ให้ทุกดอยทำเหมือนกันทั่วประเทศ เพื่อสร้างป่าต้นน้ำให้ได้มากที่สุด

ด้านนายภวินท์ พานิชพรพันธุ์ ผู้ก่อตั้งไร่กาแฟชีวิน จ.ลำปาง กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่าน ผลผลิตกาแฟลดลงต่อเนื่อง โดยเกษตรกรบางรายได้ผลผลิตลดลงเหลือ 1,300 กิโลกรัม จากที่เคยผลิตได้ 2,000 กิโลกรัม และมีบางรายลดเหลือ 700 กิโลกรัมต่อรอบการปลูก โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำ และสภาพอากาศร้อนขึ้น ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการเติบโตและผลผลิต แต่ยังทำให้กาแฟได้รับความเสียหายจากโรคระบาด รวมถึงแมลงที่เมื่อไม่มีป่าให้อาศัยก็จะเปลี่ยนมาอยู่ในไร่กาแฟแทน แถมสภาพอากาศร้อนยังทำให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ในขณะนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรคือ ราคาเชอรี่ที่แพงขึ้น ไม่ได้ทำให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น เพราะผลผลิตลดลง มีปัญหามอดในเชอร์รี่ แต่ต้นทุนการดูแลเท่าเดิม หรือจะอาจจะเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับแนวทางแก้ปัญหา นอกจากต้องดูแลป่าต้นน้ำแล้ว สิ่งที่สำคัญมาก เป็นเรื่องการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้กับเกษตรกร รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์กาแฟให้ต้านทานโรคระบาดมากยิ่งขึ้น เพราะกาแฟไทยใช้สายพันธุ์ดั้งเดิมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 เป็นเวลากว่า 30 ปีที่ไม่ได้พัฒนาสายพันธุ์ให้แข็งแรงขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่รอด

ด้านอายุ จือปา ผู้ก่อตั้ง Akha Ama Coffee กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ต้องการองค์ความรู้เพื่อนำไปดูแลรักษาต้นกาแฟของแต่ละไร่ ซึ่งสามารถใช้ชุมชนบ้านมณีพฤกษ์ จังหวัดน่าน เป็นต้นแบบได้เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีเป้าหมายร่วมกัน มีการสร้างป่า เมื่อเข้าไปในพื้นที่ของมณีพฤกษ์จะพบว่าแตกต่างจากที่อื่น พื้นที่ด้านในเย็นกว่า อุดมสมบูรณ์กว่า ซึ่งจะต้องมีหน่วยงานหรือองค์กรเข้าไปให้องค์ความรู้และวิธีการแก้ปัญหา เช่น ถ้าเกิดปัญหามอด จะต้องทำอย่างไร ทำไมผลผลิตน้อย เชอร์รี่ไม่โต เพื่อให้แก้ปัญหาได้ถูกจุด การเข้าไปบอกเฉพาะปัญหา แต่ไม่มีวิธีแก้ ไม่เกิดประโยชน์ จึงเป็นที่มาให้คนต้นน้ำหลาย ๆ คน รวมกลุ่มกันเพื่อให้เกษตรกรส่งต่อกาแฟที่ดีตั้งแต่ต้นน้ำ

ในฐานะคนกลางน้ำ นายอาคม สุวัณณกีฏะ ผู้ก่อตั้งโรงคั่วกาแฟปรีดา สะท้อนว่า ธุรกิจกาแฟทั่วโลกเจอกับความท้าทายจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปไม่แพ้กัน เช่น ประเทศบราซิล ผู้ส่งออกกาแฟอันดับต้นของโลกเจอปัญหาแม่คะนิ้ง ทำให้เสียหายไปหลายหมื่นไร่ ขณะที่เคนยา และซูดานใต้ ได้รับผลกระทบจากป่าอเมซอนถูกทำลาย ส่วนในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน โดยในมุมของโรงคั่วพบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากวัตถุดิบสำคัญคือเชอรี่จะแพงขึ้นแล้ว เมื่อซื้อมาจะมีมอดสูงถึง 30-40% ต้องคัดทิ้งจำนวนมาก เหลือเข้ากระบวนการคั่วในปริมาณน้อยลง เห็นได้ชัดว่าผลกระทบเกิดขึ้นกับทั้งคนต้นน้ำ คนกลางน้ำ และคนปลายน้ำ ทุกคนในวงการเหนื่อยขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่มีใครรวยขึ้น ซึ่งหากเป็นอย่างนี้ต่อไปในอนาคต 10 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคอาจจะไม่มีโอกาสดื่มกาแฟดี ๆ หรือกาแฟจะกลายเป็นเครื่องดื่มเฉพาะคนรวยเท่านั้น จึงจำเป็นต้องร่วมกันแก้ปัญหา โดยสร้างองค์ความรู้ให้เกษตรกร ชี้ให้เห็นว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องใกล้ตัว ทั้งนี้ กาแฟที่เราบริโภค 80% จะมาจากเกษตรกรตัวเล็ก ๆ กลุ่มนี้ ดังนั้น จึงต้องการสร้างความตระหนักว่ากาแฟที่ดีต้องดีมาจากต้นน้ำ เพื่อส่งต่อให้คนปลายน้ำ

ปิดท้ายที่นายเขมชัย ฝั้นคำอ้าย นักพัฒนานำร่องกาแฟโรบัสต้า บอกเล่าวถึงวิกฤตของกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าในภาคใต้ว่า พื้นที่เพาะปลูกกาแฟโรบัสต้าในภาคใต้ลดลงจากการรุกป่า และปัญหาใต้ดินแห้งแล้ง แหล่งน้ำใต้ดินลดระดับลงไปมาก จากเดิมอยู่ในระดับ 30 เมตร แต่จากการสำรวจล่าสุดของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลของจังหวัดชุมพร พบว่าลึกลงไปที่ระดับ 50-60 เมตร ทำให้กาแฟได้รับปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ผลผลิตหายไปประมาณ 2 เท่า และราคาดีดขึ้นเป็น 2 เท่า และด้วยพื้นฐานของโรบัสต้าเป็นกาแฟอุตสาหกรรม ทำให้เกษตรกรไม่ได้คัดแยกกาแฟเอง จึงไม่รู้ว่าผลผลิตเป็น waste หรือมีแมลงเจาะเท่าไหร่ ดังนั้น เกษตรกรจำนวนไม่น้อยจึงยังปลูกกาแฟแบบไม่มีองค์ความรู้ และไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยจากการพูดคุยกับกูรูในวงการกาแฟมองว่าโรบัสต้ายังเดินหน้าต่อไปได้ แต่ต้องการความช่วยเหลือที่หลากหลาย

"ภาคใต้ปลูกยาง ปาล์ม ซึ่งเป็นพืชที่ต้องใช้สารเคมีเป็นพิษกับดิน และสามารถซึมลงแหล่งน้ำใต้ดินด้วย กลายเป็นผลกระทบไม่ได้อยู่แค่ธรรมชาติ ส่งต่อมาคนปลูกและผู้บริโภค สร้างปัญหาด้านสุขภาพ เราจึงมีโครงการเข้าไปพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรในชุมชนให้เรียนรู้วิธีการปลูกแบบลดการใช้สารเคมี เพื่อให้ระบบนิเวศฟื้นคืนระดับหนึ่ง" นายเขมชัย กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างวัฒนธรรมกาแฟ เพื่อส่งต่อไปยังคนต้นน้ำให้มีพลังในการปลูกกาแฟที่ดีเพื่อโลก เพื่อเรา ได้ที่งาน Thailand Coffee Fest 2023 Year End งานเทศกาลกาแฟส่งท้ายปลายปีที่ให้คุณหากาแฟที่ดี เพื่อเป็นของขวัญให้คนที่คุณรัก ระหว่างวันที่ 14 - 17 ธันวาคมนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5 - 6 หรือติดตามรายละเอียดได้ที่ เฟสบุ๊ก Thailand Coffee Fest คลิกhttps://www.facebook.com/ThailandCoffeeFest หรือเว็บไซต์www.thailandcoffeefest.org

 

 


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ