กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมสมัยสามัญขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีมติให้ประกาศยกย่อง พระธรรมโกศาจารย์ พุทธทาสภิกขุ เป็นบุคคลสำคัญของโลก และบรรจุ การเฉลิมฉลองครบชาตกาล ๑๐๐ ปี ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ซึ่งรัฐบาลจะได้ดำเนินการตั้ง คณะกรรมการระดับชาติขึ้นเพื่อเตรียมการเฉลิมฉลอง จัดกิจกรรมวิชาการเผยแพร่หลักธรรมพุทธศาสนา ที่พุทธทาสภิกขุได้สั่งสอน ร่วมกับคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน ๑๐๐ ปี พุทธทาสภิกขุ ซึ่งความหมายของการเฉลิมฉลองไม่ใช่การจัดมหรสพ แต่หมายถึงการจัดกิจกรรมทางวิชาการ เผยแพร่ข่าวสารข้อมูล การประชุมเสวนา อันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม รวมทั้งในการเผยแผ่หลักธรรมของพุทธทาส ซึ่งก็คือ หลักธรรมของพุทธศาสนาต่อประชาชนทั่วไปด้วย และว่าพุทธทาสภิกขุ นับเป็นคนไทยลำดับที่ ๑๘ ที่องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก
นายสันติสุข โสภณศิริ กรรมการมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป ซึ่งเป็นองค์กรที่ผลักดันให้มีการเสนอชื่อต่อองค์การยูเนสโกครั้งนี้ เปิดเผยประวัติโดยสังเขปว่าพุทธทาสภิกขุ เดิมชื่อว่า เงื่อม พานิช เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๔๙ ตรงกับวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย ในครอบครัว ค้าขายของชำ เป็นบุตรของนายเซี้ยงและนางเคลื่อน พานิช ที่หมู่บ้านกลาง ตำบลพุมเรียง ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นที่ตั้งของจังหวัดไชยา ปัจจุบันคืออำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ศึกษาระดับสูงสุดมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.๓) จากนั้น บวชเป็นพระที่วัดโพธาราม ไชยา เมื่ออายุ ๒๐ ปี ได้รับฉายาว่า "อินทปัญโญ" แปลว่า ผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่ และไม่ได้สึกอีกเลย หลังจากศึกษาธรรมะจนถึงระดับหนึ่ง ทำให้ท่านมีความเชื่อว่าพระพุทธศาสนาที่สอน และปฏิบัติกันในเวลานั้นคลาดเคลื่อนไปมากจากที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะ ท่านจึงตัดสินใจกลับไปไชยา เพื่อศึกษาตามแนวทางที่ท่านเชื่อมั่น พร้อมทั้งตั้ง "สวนโมกขพลาราม" ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๗๕ และได้ประกาศใช้ชื่อ "พุทธทาส" เพื่อแสดงอุดมคติสูงสุดในชีวิต ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ได้ย้ายสวนโมกขพลารามมายังสถานที่แห่งใหม่คือวัดธารน้ำไหลในปัจจุบัน โดยท่าน ได้อุทิศตนเพื่องานพระศาสนาและทำงานมุ่งช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ให้พบสันติสุขตามปณิธานที่ตั้งไว้ มีผลงานทางธรรมไว้มากมาย เช่น หนังสือและเทปบันทึกเสียง ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ทำให้ได้รับการนับถือยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั้งในและต่างประเทศ กระทั่งได้รับการยอมรับจากชาวโลกว่าเป็นสมณปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีบทบาทอย่างสูงต่อพุทธศาสนา พระธรรมโกศาจารย์ มรณภาพ เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖ สิริอายุ ๘๗ ปี ๖๗ พรรษา
(ที่มา:http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9480000145594)--จบ--