สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำโครงการศึกษาการแยกห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) ของอุตสาหกรรมสำคัญระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และนัยต่อเศรษฐกิจการค้าไทย
ผลการศึกษาด้านการลงทุน พบว่า ไทยได้อานิสงค์ในส่วนของการขยายการลงทุนและการย้ายฐานการผลิตจากสงครามการค้า โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบกับประเทศอื่น ๆ เงินลงทุนที่ไทยได้รับยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย สำหรับนักลงทุนจีนที่อาจต้องการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยืดเยื้อ แม้นักลงทุนจากจีนแสดงความจำนงค์ที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ Printed Circuit Board (PCB) ดังสะท้อนจากจำนวนโครงการและเงินลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วงปี ค.ศ. 2021 ถึง 2022 แต่การเร่งขบวนการอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนยังเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ไทยต้องให้ความสำคัญเพื่อก่อให้เกิดการลงทุนขึ้นจริงภายในประเทศ
สำหรับนโยบายและมาตรการการส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบันนั้น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ออกมาตรการจำนวนมากเพื่อส่งเสริมการลงุทนภายในประเทศ เช่น มาตรการรักษาและขยายฐานการผลิตเดิม มาตรการกระตุ้นการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และมาตรการยกระดับอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งอาจพิจารณาอย่างรอบคอบถึงความทับซ้อนกันของนโยบายเพื่อไม่ให้บั่นทอนประสิทธิภาพของนโยบายในการดึงดูดการลงทุน
โครงการศึกษาฯ ได้ติดตามสถานการณ์การแยกห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสำคัญระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนอย่างใกล้ชิดจากแหล่งข้อมูลทั้งในและต่างประเทศ ทำการวิเคราะห์ผลที่จะเกิดขึ้นต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและไทย เนื่องจากภาคการผลิตของไทยต่างเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ และจีน โดยศึกษาผ่านองค์ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานของโลก ร่วมกับการวิเคราะห์แนวโน้มการค้าและแผนผังการลงทุนของบริษัทข้ามชาติในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมยานยนต์ และรวบรวมความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องผ่านการสัมภาษณ์และระดมสมอง เพื่อให้ได้ผลการวิเคราะห์ที่รอบด้าน และนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ให้ไทยได้ประโยชน์ท่ามกลางกระแสการแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทาน ขณะนี้ โครงการศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว และได้เผยแพร่ผลการศึกษาในงานสัมมนาเมื่อ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา