- 2-3 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาอย่างยั่งยืนกลายเป็นเป้าหมายสำคัญและเร่งด่วนของทุกภาคส่วน
- ESG จึงกลายเป็นกฎเกณฑ์กติกาและเข็มทิศนำทางที่สำคัญทางการค้าและการลงทุน
- ในวันที่ยังมีคู่แข่งน้อย ลูกค้ามีความต้องการและยอมจ่ายราคาที่สูงขึ้น
- ใครตอบโจทย์ได้ก่อนก็ย่อมชนะก่อน
- บริษัทที่ทำ ESG มาอย่างต่อเนื่องสามารถขยายฐานลูกค้า สร้างการเติบโต และสร้างผลกำไรได้จริง
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ Thailand's Sustainable Growth การเติบโตอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ในงานฉลองครบรอบ "30 Years of TRUST in TRIS: Toward the Next Decade of Sustainable Growth บนเส้นทางแห่งประสบการณ์ในบทบาทของ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาอย่างยั่งยืนกลายเป็นเป้าหมายสำคัญและเร่งด่วนของทุกภาคส่วนภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว
ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องพัฒนาหลายด้าน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล (ESG) กรอบ ESG จึงกลายเป็นกฎเกณฑ์กติกาและเข็มทิศนำทางที่สำคัญทางการค้าและการลงทุน ที่ผู้ประกอบธุรกิจ ทุกอุตสาหกรรมทุกขนาดต้องเรียนรู้และนำมาใช้
สิ่งที่เห็นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นความหวังอย่างยิ่ง คือ การที่บริษัทจดทะเบียนไทยหลายบริษัท ปรับตัวได้ค่อนข้างเร็ว รีบคว้าโอกาส และประสบความสำเร็จ บางบริษัทก็แสวงหา บางบริษัทวิจัยและพัฒนา (R&D) เทคโนโลยีของตนเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดการใช้พลังงาน บางบริษัทเร่งสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ทั้งในการผลิตและการใช้ หรือวิเคราะห์โมเดลธุรกิจให้หมุนเวียนทรัพยากรได้มากขึ้น
ทุกบริษัทที่ดำเนินการฝังเรื่อง ESG ลงไปในกลยุทธ์องค์กร ล้วนประสบความสำเร็จไม่มากก็น้อย เพราะทุกอุตสาหกรรมในตลาด โดยเฉพาะแบรนด์ระดับโลก ทำเรื่อง ESG อย่างจริงจัง และต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงต้องการซื้อสินค้าและบริการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ
"ในวันที่ยังมีคู่แข่งน้อย บริษัทไทยที่คว้าโอกาสเหล่านี้ ก็สามารถก้าวเข้าสู่ตลาดพรีเมี่ยมทันที นั่นหมายความว่า มีลูกค้าต้องการและยอมจ่ายราคาที่สูงขึ้น บริษัทไทยที่หันมาทำเรื่องความยั่งยืนอย่างรวดเร็ว หรือทำมาอย่างต่อเนื่อง สามารถขยายฐานลูกค้า สร้างการเติบโต และสร้างผลกำไรได้จริง เมื่อโลกเบนเข็มสู่ความต้องการใหม่นี้ ใครตอบโจทย์ได้ก่อนก็ย่อมชนะก่อน"
ปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้การค้าการลงทุนอย่างยั่งยืนเติบโต คือ การเร่งให้ความสำคัญกับตัว "G" ใน ESG หรือธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance) การกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นรากฐานพัฒนาและหัวใจของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ถ้าองค์กรใดมีตัว G ที่แข็งแรง ตัว "E" และ "S" ก็จะตามมา
โดยเรื่อง Governance มีอยู่ 2 ประเด็นหลัก คือ 1. การมีโครงสร้าง นโยบาย กลไก มาตรการกำกับดูแลความโปร่งใสตรวจสอบถ่วงดุลภายในองค์กร 2. คุณภาพและการทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ โดยเฉพาะคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์ที่หลากหลาย ตรงกับความต้องการของธุรกิจ จะช่วยให้องค์กรมองไกลขึ้น เห็นองค์รวม ครอบคลุมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เท่าทันความผิดปกติ ความเสี่ยง และโอกาส มีความยืดหยุ่น ไวต่อการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวได้เร็ว
ประกอบกับการให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร การปลูกฝังวัฒนธรรมการติดตาม คอยแสวงหาทักษะและความรู้ชุดใหม่ๆ มาพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง องค์กรก็จะมีความแข็งแกร่ง ทนทาน สามารถจัดการความเสี่ยง และรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันได้
สำหรับ TRIS ในการเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศอย่างเป็นระบบ มั่นใจว่า หาก TRIS มุ่งมั่นช่วยกันทำหน้าที่ค้ำยันธรรมาภิบาล หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดีขององค์กรต่างๆ จะสามารถเข้ามาเป็นกลไกสำคัญได้ ไม่ว่าจะด้วยการพัฒนา ยกระดับมาตรฐาน และคุณภาพตลาดตราสารหนี้ไทย ให้เท่าเทียมกับหลักสากล
การยกระดับธรรมภิบาลของหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ การพัฒนาเกณฑ์การประเมินและจัดอันดับความเสี่ยงของหุ้นกู้ หรือการให้คำปรึกษาบริษัทจดทะเบียนและบริษัททั่วไป ล้วนส่งผลให้ผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภาคธุรกิจไทยโดยรวม นักลงทุน ผู้บริโภค สามารถมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบเชิงลบทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคม และส่งเสริมธรรมาภิบาลที่ดีได้