- การระดมทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) และความยั่งยืน (Sustainability) เป็นเรื่องสำคัญที่ S&P Global ให้ความสนใจอย่างมาก
- "การระดมทุนเพื่อความยั่งยืน" ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีการเติบโตมากที่สุดในตลาดทุน
- การออกตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน คาดว่าจะมีมูลค่าราว 34 ล้านล้านบาทภายในปี 2566
Mr. Erik Christianto, Director, Sustainability Product Specialist, APAC จาก S&P Global Ratings กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ Megatrend in Sustainable Finance ในงานฉลองครบรอบ 30 ปี ของบริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด "30 Years of TRUST in TRIS: Toward the Next Decade of Sustainable Growth" ว่า การระดมทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) และความยั่งยืน (Sustainability) เป็นเรื่องสำคัญสำหรับ S&P Global ในการพัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อตอบรับการขยายตัวของการระดมทุนเพื่อความยั่งยืน S&P Global ได้ทำเรื่องความยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2542 ร่วมกับ S&P Dow Jones Indices และ RobecoSAM ในการจัดทำดัชนีหุ้นยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก "Dow Jones Sustainability Indices"
ถัดมาในปี 2560 S&P Global เปิดตัวบริการ Second Party Opinion หรือ SPO เพื่อสนับสนุนการทำเรทติ้งตราสารหนี้ โดยให้ข้อมูลเชิงลึกว่าการลงทุนด้วยเงินทุนจากการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน จะส่งผลกระทบ หรือ สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืนอย่างไร ซึ่งปัจจุบัน S&P Global เป็นผู้ให้บริการ SPO อันดับ 2 ของโลก
เหตุผลที่ S&P Global สนใจในประเด็นความยั่งยืน เพราะถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีการเติบโตมากที่สุดในตลาดทุน โดยคาดการณ์ว่าการออกตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนทั่วโลก (Green, Social, Sustainable, and Sustainability-linked bond: GSSSB) จะมีมูลค่าแตะ 1 ล้านล้านเหรียญ (ราว 34 ล้านล้านบาท) ภายในปีนี้ หรือเติบโตกว่าตลาดตราสารหนี้ปกติถึง 3 เท่าตัว โดยคาดการณ์ว่าปีนี้ตลาด GSSSB จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 14-16% ของตลาดตราสารหนี้ปกติ
ในมุมมองของ Erik Christianto เทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ 1. การระดมทุนเพื่อความยั่งยืน มีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่องในปี 2566 และปีถัดๆ ไป 2. GSSSB ยังคงเป็นรูปแบบตราสารหนี้ที่สำคัญในการระดมทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศและความยั่งยืน และ 3. การระดมทุนผ่านรูปแบบตราสารหนี้ GSSSB ต้องมีความน่าเชื่อถือว่าจะมีผลลัพธ์เพื่อความยั่งยืนที่มีความหมายอย่างแท้จริง ไม่ใช่การฟอกเขียว (Green Washing)