นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลในสังกัด กทม.ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุข หากพบสัญญาณเตือนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2566 ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนพ.มีมาตรการเชิงรุกเตรียมพร้อมรองรับจำนวนผู้ป่วยโควิด 19 ที่อาจเพิ่มขึ้น โดยสำรองเตียงโรงพยาบาลในสังกัด สนพ.และวชิรพยาบาล จำนวน 224 เตียง กรณีที่ผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนมีอัตราการครองเตียงถึงร้อยละ 80 จะขยายจำนวนเตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งสำรองยา Favipiravir Molnupiravir Paxlovid และ Remdesivir สำรองชุดตรวจหาเชื้อโควิด 19 (Antigen Test Kit : ATK) เตรียมพร้อมบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มศักยภาพการตรวจด้วยวิธี RT-PCR โดยสามารถตรวจได้ประมาณ 2,200 ราย/วัน นอกจากนั้น ยังได้สำรองวัคซีนโควิด 19 โดยเฉพาะชนิด Bivalent ให้บริการประชาชนในสถานพยาบาลของ กทม.และนอกสถานพยาบาล ตลอดจนเตรียมแผนการรับส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลโดยร่วมมือกับหน่วยงานของ กทม.และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อร่วมดำเนินการดังกล่าวและระบบบริหารจัดการเตียงแบบศูนย์รวม
ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค รวมทั้งขอให้ทุกคนไปรับวัคซีนโควิด 19 ประจำปี (Annual Vaccination) ซึ่งเริ่มฉีดในปี 2566 เป็นปีแรก ฉีดปีละ 1 เข็ม โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ประชาชนกลุ่ม 608 กลุ่มคนที่ทำงานกับผู้ป่วย หรือกลุ่มเสี่ยง และเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ควรฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นระยะห่างจากเข็มสุดท้าย หรือประวัติการติดเชื้อครั้งสุดท้ายอย่างน้อย 3 เดือน ส่วนบุคคลทั่วไปสามารถรับวัคซีนประจำปีได้เช่นเดียวกันตามความสมัครใจ สามารถรับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 เบิกจ่ายตามสิทธิการรักษา ณ สถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนด โดยจองผ่านแอปพลิเคชัน QueQ ทั้ง 12 โรงพยาบาลสังกัด กทม.
ส่วนสถานพยาบาล กทม.ยังคงเน้นย้ำมาตรการ DMH ประกอบด้วย Distancing เว้นระยะห่างระหว่างกัน Mask Wearing สวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และ Hand Washing ล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มารับบริการในโรงพยาบาลที่อาจมีความเสี่ยงการรับเชื้อจากโรงพยาบาลไปยังบุคคลในครอบครัว โดยผู้ที่มารับบริการทุกรายต้องสวมหน้ากากอนามัย จัดจุดบริการเจลล้างมือ ทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลางภายในโรงพยาบาลสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี