นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังย่านรามคำแหงว่าบริเวณย่านรามคำแหง พื้นดินมีระดับต่ำ เมื่อมีฝนหนักจะเกิดปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้งและจะใช้ระยะเวลาระบายน้ำนานกว่าพื้นที่อื่น ๆ เนื่องจากน้ำจะไหลลงมารวมกันที่พื้นที่ต่ำก่อน แล้วจึงค่อยระบายลงสู่คลองระบายน้ำ ซึ่งตามกำลังสูบระบายน้ำของเครื่องสูบน้ำและปัญหาน้ำท่วมบริเวณที่ต่ำ จึงมีระยะเวลานานกว่าพื้นที่อื่น โดยแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ต้นเหตุและเหมาะสมที่สุดคือ การเก็บกัก หรือชะลอน้ำท่าที่เกิดจากฝนตกไว้ในแก้มลิงก่อนระยะเวลาหนึ่ง แล้วจึงค่อยผ่อนระบายลงสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ เมื่อฝนหยุดตก ระบบระบายน้ำสาธารณะจะสามารถรองรับปริมาณน้ำท่าที่จะระบายออกจากพื้นที่แก้มลิงลงสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะได้โดยไม่ให้เกิดปัญหาน้ำล้นระบบระบายน้ำเข้าท่วมพื้นที่ต่ำได้ ส่วนกรณีมีข้อเสนอแนะการทำแก้มลิงใต้ที่จอดรถของราชมังคลากีฬาสถาน เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และแก้มลิงที่เสนอให้สร้างต้องก่อสร้างใต้ดิน จึงควรจะต้องศึกษา สำรวจ เพื่อจัดทำแบบรูปให้เหมาะสม รอบคอบ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบกับพื้นที่ที่จะก่อสร้างและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งต้องให้มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับระบบระบายน้ำในพื้นที่ปัจจุบันที่ดำเนินการอยู่ ซึ่ง กทม.จะนำกรณีดังกล่าวไปศึกษา เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กทม.มีโครงการปรับปรุงถนนรามคำแหง 24 และถนนหัวหมาก ซึ่งมีงานปรับปรุงท่อระบายน้ำเดิมให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น สามารถรองรับน้ำและช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในชุมชนบริเวณถนนรามคำแหง 24 มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ กกท. (สนามราชมังคลากีฬาสถาน) ได้ ส่วนการจัดทำแก้มลิงใต้ดิน (Water Bank) ปัจจุบัน กทม.ได้พิจารณาดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ที่เหมาะสมและเปิดใช้งานแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ บ่อหน่วงน้ำใต้ดิน สน.บางเขน บ่อหน่วงน้ำใต้ดินสุทธิพร 2 บ่อหน่วงน้ำใต้ดินรัชวิภา และบ่อหน่วงน้ำใต้ดินใต้สะพานข้ามแยกถนนศรีนครินทร์ตัดถนนกรุงเทพกรีฑา และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอีกหนึ่งแห่ง
สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณพื้นที่รามคำแหงในระยะยาว กทม.ได้ปรับปรุงและพัฒนาระบบระบายน้ำในพื้นที่บริเวณรามคำแหง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เช่น ปรับปรุงสถานีสูบน้ำคลองจิต สถานีสูบน้ำคลองจิก สถานีสูบน้ำ สน.หัวหมาก ปรับปรุงท่อระบายน้ำ และอยู่ระหว่างออกแบบปรับปรุงอีกหนึ่งแห่ง นอกจากนั้น ยังได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน หรือเจ้าของพื้นที่ต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ กกท.เพื่อวางแผนร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณพื้นที่รามคำแหงให้ประชาชนสามารถสัญจรได้อย่างสะดวก