องค์การสหประชาชาติ ประกาศรับรอง "สิทธิด้านสุขภาพ" ว่าเป็น "สิทธิมนุษยชน" ตั้งแต่เมื่อกว่า 7 ทศวรรษที่ผ่านมาตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights - ICESCR) ถึงการมีส่วนรวมของประชากรในการตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพ ทั้งในระดับชุมชน ประเทศ และโลก
ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ "การเสริมพลังอำนาจทางสุขภาพ" (Health Empowerment) ที่ให้ความสำคัญต่อ"สิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพ" สู่การค้นพบ "ศักยภาพในการดูแลตัวเอง" ในทุกมิติ ซึ่งนับเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดของทุกชีวิตมนุษย์
อาจารย์ ดร.พรพรรณ ประพัฒน์พงษ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้สอนรายวิชา"การเสริมพลังอำนาจทางสุขภาพ" ได้กล่าวถึงผลของการส่งเสริมปัจจัยดังกล่าวว่า ที่ผ่านมาสามารถ "สร้างความมั่นใจ" ให้กับประชาชนในชุมชนในการดูแลสุขภาพระดับบุคคล ซึ่งจะส่งผลถึงระดับมหภาค ในการช่วยลดความสูญเสียงบประมาณด้านสุขภาวะของประเทศ และลดความแออัดภายในโรงพยาบาล พร้อมทั้งได้แบ่งเบาภาระหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังคงมีไม่เพียงพอให้บริการในปัจจุบัน
จากที่หลักสูตรฯ ได้ออกแบบโดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางนอกจากการเรียนรู้ทางด้านทฤษฎีแล้ว ยังได้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ "ฝึกปฏิบัติจริง" โดยใช้ความรู้ที่ได้จากชั้นเรียนไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาที่พบจากการลงพื้นที่ชุมชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ภายใต้การดูแลโดยคณาจารย์หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล และการสนับสนุนงบประมาณ และบุคลากรจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ดูแลพื้นที่ และองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)
โดยพบว่าเป้าหมายหลักในการ "เสริมพลังอำนาจทางสุขภาพ" ควรเริ่มต้นตั้งแต่ "วัยเด็ก" ซึ่งเป็นช่วงเวลาของชีวิตที่เหมาะต่อการปลูกฝังให้เกิด "ความตระหนักรู้" ในเรื่อง"การดูแลสุขภาพ" ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังสามารถเป็นตัวแทนนำความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง ส่งต่อไปยังครอบครัว และขยายผลไปยังชุมชนต่อไปได้อีกด้วย
นอกจากกลุ่มเป้าหมายหลักของการปลูกฝัง "การเสริมพลังอำนาจทางสุขภาพ" ที่ควรเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็กแล้ว ประชาชนในกลุ่มที่ควรได้รับการส่งเสริมปัจจัยดังกล่าวเช่นกัน ได้แก่กลุ่มเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งจำเป็นต้องมีการเรียนรู้และฝึกทักษะเพื่อการดูแลตัวเองอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนป่วย
ซึ่งผลจากการนำนักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติควบคู่ไปกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รพ.สต.ที่ดูแลพื้นที่ และเจ้าหน้าที่อบต. ได้มีการบันทึก เพื่อการวัดผล ประเมิน และแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบเพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อยอดทั้งทางด้านการศึกษา และวิจัย ตลอดจนรวบรวมสู่สาธารณสุขจังหวัด เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาปรับปรุงการให้บริการสุขภาพในระดับนโยบายให้ชัดเจน และตอบโจทย์ประชาชนในชุมชนได้ยิ่งขึ้นต่อไปอีกด้วย
หากทุกคนบนโลกได้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการดูแลสุขภาพของตัวเอง ไม่ว่าจะต้องเผชิญปัญหาทางสุขภาวะในระดับใด ด้วยความพร้อมจากการใช้ชีวิตที่ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท ด้วยองค์ความรู้ที่สั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง จะเป็นพลังให้พร้อมสู้ยืนหยัดเพื่อการมีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง ซึ่งจะนำไปสู่การมีชีวิตที่ยืนยาวได้ต่อไป