- ด้วยความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นภายในปี 2568
- โรงงานกำลังจะได้รับการรับรองมาตรฐานจากคณะกรรมการอาหารและยาสำหรับกระบวนการรักษา ภายในปี 2567
Genepeutic Bio ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในกลุ่มธุรกิจ Life Sciences ในประเทศไทย ได้มีการก่อตั้งโรงงานมาตรฐานระดับ GMP เพื่อผลิตเซลล์สำหรับใช้ในการบำบัดผู้ป่วยในพื้นที่กว่า 600 ตารางเมตร โดยโรงงานตั้งอยู่ภายในอาคาร Innovation Cluster II อุทยาวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี
บริษัท Genepeutic Bio มีความตั้งใจจะนำเทคนิคการรักษาผู้ป่วยโดยวิธีเซลล์บำบัด (CAR T) เพื่อให้การรักษากับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดลิมฟอยด์ (Acute Lymphoblastic Leukemia - ALL) ได้ในจำนวนหลายร้อยคน ซึ่งเป็นการรักษาผู้ป่วยทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียนได้ภายในปี 2568 และบริษัทฯคาดว่าจะได้รับการรับรองกระบวนการรักษาจากสำนักงานอาหารและยาภายในปี 2567
ในประเทศไทยเองได้มีการยอมรับและพูดถึงกระบวนการการักษาแบบเซลล์บำบัดนี้มากขึ้น โดยในช่วงเดือนเมษายน 2566 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) TCELS, กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้ประกาศร่วมกันจัดตั้งและยกระดับอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ให้เป็นหนึ่งในเสาหลักของการเติบโตอันดับต้นๆของประเทศ และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพที่มีมูลค่าในระดับสูง
นพ. ปรินทร์ รัตนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Genepeutic Bio ได้กล่าวว่า " ด้วยกระบวนการและเทคโนโลยีที่ครอบคลุมจากจุดเริ่มต้นจนถึงสิ้นสุดของการผลิตเซลล์ชนิด CAR T จากบริษัท Cytiva มีส่วนช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับสถานะของเราในฐานะผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมที่มีความน่าเชื่อถือในประเทศไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และด้วยการเพิ่มขีดระดับความสามารถในการผลิตนี้จะทำให้เราสามารถตอบสนองต่อความต้องการในด้านการรักษาพยาบาลในประเทศไทย และทำให้เราเข้าใกล้วิสัยทัศน์ของบริษัทเราในการให้บริการการรักษาแบบใหม่สำหรับทุกคน"
Mr.Premnath Mandalapu, ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน บริษัท Cytiva ได้กล่าวว่า " การพัฒนาและการนำกระบวนการผลิตสำหรับการรักษาแบบใหม่ๆ นั้น ต้องการความยืดหยุ่น ความเร็ว ความคล่องตัว และในขณะเดียวกันต้องมีขนาดที่เพียงพอกับความต้องการใช้ในการรักษาด้วย นอกจากนี้แล้วยังต้องได้รับการรับรอง GMP (มาตรฐานแนวทางการปฏิบัติที่ดีในการผลิต)ด้วย โดยเทคโนโลยีและรูปแบบของ FlexFactory จาก Cytiva นั้นสามารถตอบสนองความต้องการเหล่านี้ให้กับกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชีววิทยาศาสตร์ และเราได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ให้มีการติดตั้งมาแล้วมากกว่า 100 แห่งทั่วโลก และสำหรับในประเทศไทย นี่เป็นการติดตั้ง FlexFactory เป็นครั้งแรก และกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีของเรานี้ จะช่วยให้ Genepeutic Bio สามารถนำผลิตภัณฑ์การรักษา มาสู่ผู้ป่วยในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ต้องการยาเหล่านี้ได้มากที่สุด"
ข้อมูลจาก Global Biopharma Resilience Index ประจำปี 2566 ของ Cytiva แสดงให้เห็นว่า การเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตที่ได้มาตรฐานได้มากขึ้นจะช่วยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในประเทศไทย และกว่าร้อยละ 32 ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทย มีความคิดเห็นเชิงบวกว่าจะสามารถเข้าถึงโรงงานที่ได้มาตรฐานระดับ GMP ได้ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 59 จากทั่วโลก
แพลตฟอร์มการผลิตผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพแบบ FlexFactory ของ Cytiva ประกอบด้วยเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตเซลล์ทั้งกระบวนการ เอกสารควบคุมคุณภาพที่สอดคล้องกับระเบียบของการควบคุมการผลิต การบริการให้คำปรึกษาการจัดการตั้งแต่เริ่มโครงการจนเสร็จสิ้น และฝึกอบรมให้กับลูกค้าให้สามารถทำงานได้ตามมาตรฐานสากล นอกจากนั้นยังมีในส่วนของการเชื่อมต่อแพลตฟอร์มกับซอฟต์แวร์ Chronicle ด้วยระบบอัตโนมัติด้วย รวมถึงมีการให้บริการโซลูชันแบบบูรณาการ โดยสามารถปรับในส่วนของขนาดการผลิตเพื่อรองรับการเพิ่มขยายในอนาคต เพื่อให้สามารถได้รับการรับรอง GMP ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 9 เดือนตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการและพร้อมส่งมอบ
ข้อมูลเกี่ยวกับ Genepeutic Bio
Genepeutic Bio เป็นผู้พัฒนาและรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์ (Contract Development and Manufacturing Organization) CDMO แห่งแรกในประเทศไทยที่มีแผนกวิจัยและพัฒนา สำหรับเทคโนโลยีเซลล์และยีนบำบัด บริษัทจัดตั้งขึ้นในปี 2563 โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตและส่งมอบเซลล์และยีนบำบัดสำหรับผู้ป่วยในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โรงงานมาตรฐานที่ได้รับการรับรอง GMP นี้ จะผลิตผลิตภัณฑ์ chimeric antigen receptor (CAR T) สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดที่กำเริบ/ดื้อต่อการรักษา รวมถึงมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน มะเร็งต่อมน้ำเหลือง B-cell ขนาดใหญ่ชนิดแพร่กระจาย และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหลายชนิด เทคโนโลยีเซลล์ CAR T ถือเป็นความหวังสุดท้ายสำหรับผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบเดิม เช่น เคมีบำบัดหรือการรักษาแบบมุ่งเป้า Genepeutic Bio มีความตั้งใจจะเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีเซลล์และยีนบำบัดสำหรับประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาที่สามารถเข้าถึงได้มากขึ้นสำหรับผู้ป่วยชาวไทยและเอเชียแปซิฟิก