อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกทุกวันนี้มีพัฒนาการไม่หยุดนิ่ง ผู้ผลิตต้องปรับตัวให้ทันกฎระเบียบของภาครัฐในแต่ละประเทศ สนองความต้องการของผู้บริโภคที่ซับซ้อนขึ้น พัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โจทย์และความท้าทายเหล่านี้จึงต้องอาศัยเครื่องมือสำคัญอย่าง "เทคโนโลยีดิจิทัล" ที่เข้ามาช่วยเปลี่ยนโฉมตลาดพลังงานในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน สามารถรองรับการเติบโตของธุรกิจไฟฟ้าที่ทั้งตอบโจทย์ความมั่นคงทางพลังงานและการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้บริโภค
สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดไฟฟ้าเสรี โดยมีการนำเทคโนโลยีด้านต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมด้วย เช่น แพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) ผ่านระบบออนไลน์ที่ผู้ซื้อไฟสามารถเปรียบเทียบแพ็กเกจและเลือกผู้ขายไฟฟ้าได้โดยตรง รวมถึงผู้ซื้อและผู้ขายสามารถเชื่อมต่อกันได้โดยตรง เพื่อจับคู่ข้อเสนอด้านราคาและเงื่อนไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคาและบริการ จึงส่งผลดีต่อผู้บริโภคในทางอ้อม อีกทั้งยังช่วยบริหารความเสี่ยงหรือจัดการความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในระบบทั้งในฝั่งของผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้บริโภค ทั้งนี้ผู้ประกอบการในตลาดไฟฟ้าในสหรัฐฯ ที่มีอยู่จำนวนมากจำเป็นต้องแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน และตอบสนองต่อการเติบโตของตลาดในหลายๆ ด้าน
บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพระดับสากล ที่ยึดมั่นในการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืนด้วยเมกะวัตต์คุณภาพ เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ขนาด 768 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II ขนาด 755 เมกะวัตต์ ในรัฐเท็กซัส สหรัฐฯ และธุรกิจขายไฟฟ้าในตลาดเสรี Electric Reliability Council of Texas (ERCOT) ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการวางแผนการผลิตและขายไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ความต้องการในตลาด และเทรนด์พลังงานในอนาคต มาใช้ในกระบวนการต่างๆ
กิรณ ลิมปพยอม หัวเรือใหญ่แห่ง BPPเผยว่า "หนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจผลิตไฟฟ้าในวันนี้และอนาคตให้ประสบความสำเร็จ คือ เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่ง BPP นำมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจไฟฟ้าในสหรัฐฯ ที่มีอยู่ครบวงจรทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ตั้งแต่การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ไปจนถึงการขายไฟฟ้าในตลาดค้าส่ง (Wholesale) ตลาดค้าปลีก (Retail) รวมถึงการซื้อ-ขายไฟฟ้า (Power Trading) ทำให้สามารถตอบโจทย์ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ มีเสถียรภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งมอบพลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพ (Quality Megawatts) อย่างต่อเนื่อง"
ตลาดไฟฟ้าเสรี ERCOT ในรัฐเท็กซัสที่มีประชากรราว 30 ล้านคน มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการเพิ่มขึ้นของประชากรที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามา รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการจึงต้องพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยี เพื่อยกระดับการให้บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการ รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับลูกค้า ส่งผลให้สามารถขยายฐานลูกค้า ช่วยเพิ่มปริมาณขายไฟฟ้า และกำไรในอนาคต
ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในตลาดไฟฟ้าเสรีนำเทคโนโลยี AI ที่มีศักยภาพ และความแม่นยำ มาใช้ในการจัดเก็บ วิเคราะห์ และบริหารจัดการข้อมูลของลูกค้า เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในการทำการตลาดกับผู้บริโภคในยุคดิจิทัลพรประนด ดิษยบุตร์ Chief Executive Officer - BPPUS ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ BPP ถือหุ้นร้อยละ 100 ผู้คร่ำหวอดในตลาดไฟฟ้าในสหรัฐฯ กว่า 22 ปี เสริมว่า "นอกจาก BPP จะใช้ซอฟต์แวร์จำนวนมากในการจัดเก็บ และวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณไฟฟ้าในตลาด (Power Supply) ในอนาคต เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวในตลาดซื้อขายไฟฟ้าอย่างรวดเร็วแบบเรียลไทม์ ส่งผลให้สามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรายังพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ โดยนำเทคโนโลยี AI มาวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของลูกค้า เพื่อออกแบบแพ็คเกจบริการต่างๆ ในราคาที่เหมาะสม และสามารถแข่งขันได้ ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าแต่ละราย รวมทั้งนำข้อมูลที่เผยแพร่ต่อสาธารณะจากโซเชียลมีเดียและดิจิทัลมีเดียมาประมวลผล เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย พัฒนากิจกรรมทางการตลาดให้น่าสนใจและดึงดูดกลุ่มเป้าหมายในอนาคตอีกด้วย"
นอกจากการนำเทคโนโลยีมาช่วยในตลาดซื้อขายไฟฟ้าแล้ว ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ก็มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยทั้งในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I และ Temple II ของ BPP ในสหรัฐฯ สามารถปฏิบัติงานผ่านระบบดิจิทัลที่ทันสมัย ทำให้ปรับระดับกำลังผลิตไฟฟ้าได้อย่างยืดหยุ่นภายในระยะเวลาอันสั้น สามารถส่งมอบไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง อันเป็นการตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีโอกาสในการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงนำระบบซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพสูง ที่สามารถบันทึก ตรวจสอบ และควบคุมการปล่อยมลสารของโรงไฟฟ้าได้ดีกว่าที่มาตรฐานกำหนด และใช้เทคโนโลยี Combined Cycle Gas Turbines (CCGT) ที่ผสมผสานกระบวนการทำงานของกังหันก๊าซ (Gas Turbine) กับกังหันไอน้ำ (Steam Turbine) เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ต่ำกว่าโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลถึงร้อยละ 50
"โรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งของ BPP ตอบโจทย์การสร้างเสถียรภาพในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในระบบด้วยความสามารถในการปรับตัวตอบสนองต่อความเคลื่อนไหวของตลาดได้อย่างรวดเร็ว ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้า และร่วมสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม" พรประนด เผยเพิ่มเติม
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานให้เติบโต ก้าวหน้ายิ่งขึ้น สอดรับทิศทางพลังงานโลก หรือ "เทรนด์ 3D" ประกอบด้วย รูปแบบการผลิตไฟฟ้าที่มีการกระจายตัวมากขึ้น (Decentralization) การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ (Digitalization) และการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Decarbonization) "BPP พร้อมผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยควบคู่กับการพัฒนาคน ครอบคลุมประเทศยุทธศาสตร์ทั้งหมดของบริษัทฯ โดยเราสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันภายใน BPP Ecosystem เช่น จีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ด้วยการแบ่งปันข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวหน้า เพื่อผนึกกำลัง และเพิ่มศักยภาพในการขับเคลื่อนธุรกิจของ BPP ให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับเทรนด์พลังงานแห่งอนาคต" กิรณ กล่าวทิ้งท้าย
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจ BPP ได้ที่ www.banpupower.com