กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน มอบให้ทุกจังหวัดขับเคลื่อนแผนพัฒนากำลังคน ตามแนวทางคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ จัดประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) ครั้งที่ 2 โดยนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุม และนางณฐมน ปัทมะสุคนธ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ ทำหน้าที่เลขานุการ มีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ และเครือข่ายร่วมประชุม จำนวน 40 คน เพื่อสรุปผลดำเนินจัดทำแผนพัฒนากำลังคนระดับจังหวัดประจำปีงบประมาณ 2566 และพิจารณาร่างแผนการพัฒนากำลังคนระดับจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2567 ในวันที่ 4 สิงหาคม 2566 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่
นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพ จังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2566ได้มีผลการพัฒนากำลังคนระดับจังหวัดเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวม 23 หน่วยงาน มีผลพัฒนากำลังคนรวม 39,160 คน โดยในปีงบประมาณ 2567 ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่มีแผนการพัฒนากำลังคนระดับจังหวัด ได้พิจารณาถึงความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ "เชียงใหม่นครแห่งชีวิต และความมั่งคั่ง" และเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ 20 ปี "สู่การเป็นเมืองแห่งโอกาสและความหวัง"
ทั้งนี้ นางณฐมน ปัทมะสุคนธ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ ได้นำเสนอ ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 โดยมีมติที่ประชุมสำคัญ เห็นชอบแผนพัฒนากำลังคนระดับจังหวัด พ.ศ. 2565 - 2570 และให้คณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผนพัฒนากำลังคนจังหวัด และได้ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบันทึกแผนและผลการดำเนินงานในระบบฐานข้อมูลพัฒนากำลังคนระดับจังหวัด สำหรับแผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2567 นั้น มีจุดเน้นสำคัญ 5 ประการ
1.มุ่งเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเน้นคุณค่าที่สามารถปรับตัวตามสถานการณ์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น 2.การขับเคลื่อนเกษตรเพิ่มมูลค่า เกษตรแปรรูปมูลค่าสูง และนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตภายใต้ BCG Model 3.การยกระดับการค้าการลงทุนบนฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) นวัตกรรม (Innovation) และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) 4.การจัดการเชิงรุกในปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วม และ 5.การเสริมสร้างสังคมคุณภาพ เมืองน่าอยู่ที่มีความปลอดภัย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ซึ่งยังคงมีหน่วยงานในคณะอนุกรรมการฯและเครือข่ายลงระบบฐานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะมีแผนการพัฒนากำลังคนระดับจังหวัดเชียงใหม่ จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายประมาณ 43,000 คน เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่