กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” ในขณะเดียวกันได้จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้มีประกันมูลค่ารวม 2,530 ล้านบาท (SSI073A และ SSI083A) ของบริษัทที่ระดับ “BBB” พร้อมเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Negative” หรือ “ลบ” จาก “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนความเป็นผู้นำตลาดของบริษัทในผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนภายในประเทศ การปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศของรัฐบาลในรูปโควตาและอากร และปริมาณความต้องการเหล็กภายในประเทศที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนจากลักษณะของอุตสาหกรรมเหล็กที่มีการแข่งขันและมีความผันผวนสูง รวมทั้งจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของทั้งผู้ประกอบการในประเทศและการนำเข้า การใช้เงินทุนหมุนเวียนที่สูงของบริษัท ความเสี่ยงจากสัญญาซื้อขายระยะสั้น (1-3 เดือน) และความเสี่ยงจากการขาดความหลากหลายในการดำเนินงาน
ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงฐานะทางการเงินของบริษัทที่ต่ำกว่าคาดการณ์ โดยที่อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากภาวะทางการตลาดที่ยากลำบากยังดำรงต่อไปอย่างต่อเนื่อง หรือความพยายามของบริษัทในการแก้ไขปัญหาสินค้าคงคลังส่วนเกินไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งอาจส่งผลให้ฐานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงจากระดับในปัจจุบัน
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรีเป็นผู้ผลิตแผ่นเหล็กรีดร้อนชนิดม้วนรายแรกในประเทศไทยด้วยกำลังการผลิตรวม 4 ล้านเมตริกตันต่อปี บริษัทนำเหล็กแท่งแบนกึ่งสำเร็จ (Semi-finished Slap) ไปผ่านกระบวนการผลิตให้เป็นเหล็กแผ่นชนิดม้วน (Flat-rolled Coil) บริษัทมีโรงงานเพียงแห่งเดียวที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือน้ำลึกและช่วยทำให้บริษัทลดต้นทุนในการขนส่งทั้งในด้านวัตถุดิบและการจัดส่งผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูป บริษัทเน้นตลาดภายในประเทศเป็นหลักโดยมียอดขายคิดเป็น 92% ของยอดขายทั้งหมดในปี 2547 ทั้งนี้ แนวโน้มที่ดีในระยะยาวของอุตสาหกรรมก่อสร้างจากการที่รัฐบาลมีนโยบายก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการจะส่งผลดีแก่บริษัทเนื่องจากประมาณ 46% ของรายได้ของบริษัทมาจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง ภาวะการแข่งขันภายในประเทศคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นจากการกลับเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการ 2 ราย และจากการนำเข้า ผู้ประกอบการภายในประเทศยังคงได้รับประโยชน์จากมาตรการของรัฐบาลในการเรียกเก็บอากรต่อต้านการทุ่มตลาดซึ่งอยู่ระหว่าง 3.45%-128.11% สำหรับสินค้านำเข้าจาก 14 ประเทศ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าเหล็กราคาถูกจำนวนมากจากประเทศที่ไม่ถูกเรียกเก็บอากรต่อต้านการทุ่มตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการภายในประเทศ
บริษัทมีความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจจากการมีโรงงานเพียงแห่งเดียวซึ่งหากมีเหตุที่ทำให้ต้องปิดโรงงานนอกแผนเป็นเวลานานก็อาจส่งผลที่มีนัยสำคัญต่อกระแสเงินสดของบริษัท นอกจากนี้ การขาดกระบวนการผลิตที่ครบวงจรและการขาดผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายยังส่งผลให้บริษัทเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนด้านอุปทานและอุปสงค์ของเหล็กแท่งแบนและเหล็กรีดร้อนชนิดม้วนในตลาดโลก การที่บริษัทต้องสำรองเหล็กแท่งแบนขนาดต่างๆ เป็นจำนวนมากเพื่อให้เพียงพอกับการผลิตตามคำสั่งของลูกค้าทำให้บริษัทมีความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนในระดับสูงและส่งผลให้มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามภาวะอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ การไม่มีสัญญาขายระยะยาวยังส่งผลให้บริษัทประสบกับความผันผวนทั้งในด้านราคาและปริมาณการขาย ราคาขายเฉลี่ยของแผ่นเหล็กรีดร้อนชนิดม้วนของบริษัทลดลงจาก 628 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมตริกตันในไตรมาสแรกของปี 2548 เป็น 520 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมตริกตันในไตรมาสที่ 3 ของปี 2548 อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความได้เปรียบจากโครงสร้างต้นทุนที่ยืดหยุ่นซึ่งทำให้บริษัทสามารถปรับการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะตลาด
ผลประกอบการของบริษัทสำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 ต่ำกว่าความคาดหมายของทริสเรทติ้ง โดยรายได้จากการดำเนินงานของบริษัทมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 29,218 ล้านบาท ในขณะที่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อยอดขายลดลงสู่ระดับ 6.9% จาก 19.2% ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2547 เนื่องมาจากราคาแผ่นเหล็กรีดร้อนชนิดม้วนลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจากราคาเหล็กแท่งแบนที่เพิ่มสูงขึ้น และการตั้งค่าสำรองการด้อยค่าของวัตถุดิบมูลค่า 597 ล้านบาทและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปมูลค่า 327 ล้านบาท การสำรองวัตถุดิบจำนวนมากส่งผลให้มูลค่าสินค้าคงคลังของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 11,827 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2547 เป็น 28,974 ล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2548 บริษัทได้ใช้วงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจากธนาคารหลายแห่งสำหรับสินค้าคงคลัง หนี้สินคงค้างที่สูงเกินคาดจากจำนวน 12,278 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2547 เป็น 30,952 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทลดลงสู่ระดับ 7.64% และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 60.56% อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทลดลงจาก 16.18 เท่า ณ สิ้นปี 2547 เป็น 3.34 เท่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--