ม.มหิดลต่อยอดผลงานน.ศ.ใช้เทคโนฯนาซา'ย่อโลกแพทย์ทางไกล'ไทย-เยอรมันผ่านโฮโลเลนส์

ข่าวทั่วไป Thursday August 10, 2023 08:13 —ThaiPR.net

ม.มหิดลต่อยอดผลงานน.ศ.ใช้เทคโนฯนาซา'ย่อโลกแพทย์ทางไกล'ไทย-เยอรมันผ่านโฮโลเลนส์

เทคโนโลยีภาพ 3 มิติโฮโลแกรม (Hologram) ได้รับการคิดค้นครั้งแรกเมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก่อนองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ "องค์การนาซา" สหรัฐอเมริกา นำมาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ในอวกาศครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา

ด้วย "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้คนไทยได้ภาคภูมิใจกับผลงานครั้งแรกของนักศึกษาไทย ที่สามารถ'ย่อโลกแพทย์ทางไกล'ไทย-เยอรมันผ่านแว่นตาสร้างภาพโฮโลแกรม ด้วยเทคโนโลยี "โฮโลเลนส์" (Hololens) ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้สามารถคว้ารางวัลระดับประเทศ จากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 25 (The 25th National Software Contests: NSC 2023) จัดโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

"น้องกล้า" เมธาสิทธิ์ เกตุรักษ์ ว่าที่บัณฑิตคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลที่3 โปรแกรมเพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ระดับนิสิต นักศึกษาNSC 2023

จากโครงการ "กายวิภาคศาสตร์เสมือนโฮโลเลนส์ : การเรียนกายวิภาคศาสตร์ในสภาพแวดล้อมร่วมผสม" ซึ่งเป็นผลงานภายใต้ Mahidol Bremen Medical Informatics Research Unit (MIRU) โดยความร่วมมือระหว่างคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเบรเมน (Universitaet Bremen) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

โดยได้ใช้เวลานาน 1 ปี "ทำโปรเจคก่อนจบ" (Senior Project) โดยก่อนเริ่มโปรเจคนั้นได้ผ่านการฝึกงานพัฒนาฝีมือ ภายใต้คำแนะนำของ Prof. Dr.Peter Haddawy (คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล) และ Prof. Dr.Gabriel Zachmann ณ มหาวิทยาลัยเบรเมน (Universitaet Bremen) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปพน สง่าสูงส่ง จากภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล

ปัจจุบันอยู่ระหว่างร่วมพัฒนาสู่การใช้จริง ร่วมกับมหาวิทยาลัยโอลเดนเบิร์ก (Carl von Ossietzky Universitaet Oldenburg) ภายใต้ทุนสนับสนุน DAAD - The Deutscher Akademischer Austauschdienst แห่งรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

"น้องกล้า" ได้เล่าถึงการทำงานของอุปกรณ์ "โฮโลเลนส์" ซึ่งได้ศึกษาด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่องและจริงจังมาก่อนเข้าร่วมโครงการฯ ว่า เป็นการสร้างภาพเสมือนจริง 3 มิติผ่านแว่นMR ที่สามารถใช้มือทดลองทำหัตถการ

ในเบื้องต้นได้ใช้ในการประชุมแพทย์ทางไกล เพื่อให้แพทย์ได้ทดลองใช้สอนนักศึกษาแพทย์เกี่ยวกับพยาธิวิทยาของหัวไหล่ภายในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และยังได้เชื่อมต่อเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปยังมหาวิทยาลัยเบรเมน (Universitaet Bremen) และมหาวิทยาลัยโอลเดนเบิร์ก (Carl von Ossietzky Universitaet Oldenburg)

สิ่งประทับใจนับตั้งแต่ที่ได้เข้าเป็นนักศึกษาคณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดล คือความพร้อมทางด้านอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยของคณะฯ โดย "น้องกล้า" ได้ตั้งปณิธานว่าจะใช้ความรู้และทักษะทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่สั่งสมจากการเรียนที่คณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดลตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โมเรศ ปรัชญพฤทธิ์ อาจารย์ประจำกลุ่มวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการฯ คือ หนึ่งในเบื้องหลังสำคัญที่ทำให้นักศึกษาคณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถคว้ารางวัลจากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยในหลายปีที่ผ่านมา

โดยได้มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้นักศึกษาคณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดล ผลิตนวัตกรรมที่มี impact ต่อสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อการเล่น"เกมคอมพิวเตอร์" ที่ในอดีตมักถูกมองว่าเป็นการใช้เวลาไปโดยสูญเปล่า สู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมได้ต่อไปอย่างกว้างขวางและหลากหลายอาทิ ทางการศึกษา การแพทย์ การทหาร ดนตรี ฯลฯ ตลอดจนการต่อยอดในเชิงพาณิชย์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีจุดร่วมพัฒนาที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรให้ "user friendly" หรือง่ายต่อการนำไปใช้จริงได้มากที่สุด

และมั่นใจว่าโครงการ "กายวิภาคศาสตร์เสมือนโฮโลเลนส์: การเรียนกายวิภาคศาสตร์ในสภาพแวดล้อมร่วมผสม" ผลงานโดย "น้องกล้า" เมธาสิทธิ์ เกตุรักษ์ จะไม่หยุดอยู่แค่เพียงประโยชน์ในการศึกษาทางการแพทย์ ในการฝึกทำหัตถการออนไลน์ทางออร์โธปิดิกส์ จากการสามารถเชื่อมต่อองค์ความรู้ และข้อมูลอันเป็นประโยชน์ที่เกี่ยวข้องของระบบเช่น การแสดงองค์ประกอบ และวิธีใช้ในการการรักษาโดยละเอียด

เชื่อว่าในอนาคตจะสามารถขยายศักยภาพได้อย่างไม่จำกัดสู่การประยุกต์ใช้ศึกษาองค์ประกอบทั้งหมดของร่างกายมนุษย์ (Whole Human Body) ได้ต่อไปอย่างแน่นอน

 

 

 

 


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ