ช้างป่าที่อาศัยอยู่ในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศจีนกำลังเผชิญกับวิกฤต และต้องการการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน
ในวันช้างโลกนี้ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ได้เปิดตัวสหพันธ์ช้างอาเซียนระดับภูมิภาค หรือ Asian Elephant Alliance (AEA) ในกรุงเทพฯ เพื่อร่วมอนุรักษ์และสร้างอนาคตที่มั่นคง ให้การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างและการที่ถิ่นที่อยู่ถูกตัดขาดออกจากกันลดลง ในขณะเดียวกันให้คนและช้างสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน และให้จำนวนประชากรช้างป่ามีความคงที่
วันช้างโลกก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยเมื่อเกือบหนึ่งทศวรรษที่แล้ว เพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของช้างทั่วโลก และรวมแรงร่วมสนับสนุนในการแก้ปัญหาที่ช้างต้องเผชิญ ด้วยแนวคิดของการมีส่วนร่วมเป็นหัวใจสำคัญ วันช้างโลกมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สังคม และประชาชน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมในการอนุรักษ์ช้างป่า
คุณนาตาลี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WWF ประเทศไทย กล่าวว่า "สหพันธ์ช้างอาเซียนก่อตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์ของวันช้างโลก ซึ่งเป็นความร่วมมือและการทำงานร่วมกัน โดยทุกฝ่ายมีความเห็นพ้องกันว่าความท้าทายต่าง ๆ ที่ช้างกำลังเผชิญอยู่ในภูมิภาคของเรานั้น ไม่สามารถถูกแก้ไขได้โดยลำพัง"
ช้างเอเชียทั่วโลกอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศจีน ซึ่งมีช้างป่าเอเชียเพียงประมาณ 8,000-11,000 ตัวกระจายอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีนตอนใต้ อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ไทย และเวียดนาม การสูญเสียที่อยู่อาศัย การแตกกระจายของถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างป่า รวมถึงความขัดแย้งระหว่างช้างกับมนุษย์ และการล่าและรุกล้ำพื้นที่ของช้างป่า ส่งผลให้จำนวนประชากรช้างในภูมิภาคลดลงอย่างรวดเร็ว โดยจำนวนประชากรช้างในบางประเทศอาจมีเพียงหลักร้อย และบางกรณีอาจอยู่อย่างโดดเดี่ยว
คุณแลน เมอร์คาโด ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคของ WWF ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า "ช้างเอเชียทั้งมีขนาดใหญ่ ทั้งมีบทบาทสำคัญ และเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมและความเป็นตัวตนของภูมิภาคนี้ ดังนั้นเราต้องร่วมกันต่อสู้เพื่อลดแนวโน้มการสูญพันธุ์ โดยเน้นการการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างช้างกับประชาชนในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้พวกเขาอยู่ได้ด้วยกันโดยไม่เดือดร้อน เราจีงต้องมี "พันธมิตรช่วยช้าง"
เพื่อหยุดการลดลงของจำนวนประชากรช้างในภูมิภาคที่น่าเป็นห่วงนี้ และเพื่อการสร้างสภาพแวดล้อมของการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนกับมนุษย์ WWF มีเป้าหมายที่จะร่วมมือกับหน่วยงานหลักที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงต่ออนาคตของช้างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน เป้าหมายของโครงการระดับภูมิภาคนี้ คือการทำงานร่วมกันเพื่อจำลองรูปแบบการอนุรักษ์ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ทั้งช้าง และผู้คน
ตัวอย่างหนึ่งคือแนวทาง "ภูมิทัศน์ที่อยู่อาศัย (living landscapes)" ที่ทดลองในรัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งบริษัทด้านการเกษตรเอกชนแห่งหนึ่ง ร่วมมือกับ WWF และรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อให้มั่นใจว่ามีพื้นที่อยู่อาศัยเชื่อมต่อกันทั่วถึง และมีอาหารเพียงพอกับประชากรช้างบอร์เนียวในพื้นที่ ซึ่งหมายถึงการสูญเสียพืชผลที่น้อยลงสำหรับชุมชนท้องถิ่นและบริษัท
และถิ่นที่อยู่อาศัยที่ดีขึ้นของช้างรวมถึงสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ
คุณนิลังกา ชัยสิงห์ ผู้ประสานงานเพื่อช้างเอเชียของ WWF กล่าวว่า "ช้างเป็นสัตว์ที่อยู่คู่ภูมิภาคเอเชียมานับพันปี และมีสิทธิโดยกำเนิดที่จะมีชีวิตอยู่รอดตามธรรมชาติ พวกเขาเป็นสัตว์ใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ และนำคุณประโยชน์สู่ประชาชนและให้ร่มเงาแก่สัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือพวกเขาเป็นสัตว์ที่มีคุณค่ามากในฐานะที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย การอนุรักษ์ช้างไม่เพียงเป็นการรักษาสมดุลระบบนิเวศและคุณค่าทางวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นการมอบโอกาสในการอยู่รอดและเจริญเติบโตอยู่ได้ตามธรรมชาติของพวกเขา"
WWF ได้ทำงานด้านการอนุรักษ์ช้างป่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนมาหลายปี โดยเฉพาะในโครงการ Asian Rhino and Elephant Action Strategy (AREAS) ตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2558 สหพันธ์ช้างอาเซียนจะนำโปรแกรมส่วนนี้ ประกอบกับงานที่ร่วมมือกับชาติอื่น และร่วมกับนักแสดงทั้งหลาย ไปต่อยอดเพื่อปกป้องที่อยู่อาศัยของช้าง ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างมนุษย์และช้าง ป้องกันการล่าช้าง และเพิ่มความเข้าใจในสถานะปัจจุบันของช้างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศจีนให้ดียิ่งขึ้น
มาร่วมเป็นพันธมิตรของ WWF ในการอนุรักษ์ช้างเอเชียและเป็นพันธมิตรช่วยช้าง โดยการช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างเอเชีย ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความมหัศจรรย์ของสัตว์ใหญ่นี้ และเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับช้างเอเชียให้มากขึ้น
หากต้องการเข้าร่วมพันธมิตรปกป้องช้างของ WWF ติดต่อ: EllyAlly@wwfint.org
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม: panda.org/AsianElephants