ปวดศีรษะไมเกรน เป็นอาการปวดศีรษะที่ไม่มีโครงสร้างในสมองผิดปกติ (ปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ) อาการปวดอาจเป็นๆ หายๆ หรือเป็นเรื้อรัง และมีความรุนแรงจนมีผลกระทบต่อสุขภาพและกิจวัตรประจำวันได้ พบได้บ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ลักษณะปวดและอาการร่วมพบได้ดังนี้
- ปวดศีรษะครึ่งซีกแบบตุบๆ หรือตามการเต้นของชีพจรอาจปวดทั่วศีรษะ หรือปวดศีรษะข้างใดข้างหนึ่งมากกว่า
- มักมีคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
- แสงจ้า อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสียงดัง การเคลื่อนไหวขณะมีอาการทำให้มีอาการปวดมากขึ้นได้
- บางรายมีอาการเตือนนำมาก่อนด้วย เช่นสายตาพร่ามัว เห็นแสงระยิบระยับ หรือซิกแซ็ก แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก เสียงอื้อในหู
- ระยะเวลาปวดอาจนานได้ 2 - 3 วัน
การอดนอน ภาวะเครียด ความอ่อนล้า เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ปวดศีรษะไมเกรนได้บ่อย การมีรอบเดือน อาหาร และยาบางชนิด เช่น ชีส คาเฟอีน ยาคุมกำเนิด ก็เป็นตัวกระตุ้นให้ปวดศีรษะได้ในบางราย
การบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน ควรรับประทานยาบรรเทาปวดได้ทันทีเมื่อเริ่มมีอาการ เพื่อให้ได้ผลรักษาที่ดี โดยยาที่ใช้ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร เพราะปัจจัยการเลือกใช้ยาแตกต่างกันแล้วแต่บุคคล เช่น อายุ โรคประจำตัว เป็นต้น ในบางรายหากอาการปวดศีรษะไม่ดีขึ้น ปวดถี่ขึ้น หรือมีอาการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ควรพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินหาสาเหตุอื่นๆ ของอาการปวดศีรษะ และพิจารณาปรับการรักษาด้วยยาป้องกันการปวดศีรษะไมเกรนตามความเหมาะสมต่อไป
การบรรเทาอาการปวดไมเกรนขณะมีอาการปวดด้วยวิธีอื่นในรายที่มีข้อจำกัดในการใช้ยาบรรเทาปวด เช่น การฝังเข็ม การนวดกดจุด ควรพิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญนั้นๆ
การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดภาวะเครียด การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นปัจจัยสำคัญเพื่อบรรเทาและป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนได้ระยะยาว
ข้อมูลดีๆ จาก.. นพ.ภานุทัต จันทร์เด่นดวง อายุรแพทย์เฉพาะทางระบบประสาทและสมอง ศูนย์หลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลหัวเฉียว