รพ.กทม.เตรียมพร้อมเฝ้าระวังป้องกันโรคฝีดาษลิง

ข่าวทั่วไป Friday August 18, 2023 13:20 —ThaiPR.net

รพ.กทม.เตรียมพร้อมเฝ้าระวังป้องกันโรคฝีดาษลิง

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลสังกัด กทม. เพื่อรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในกรุงเทพฯ หลังพบผู้เสียชีวิตจากโรคฝีดาษลิงรายแรกของไทยว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนพ.ได้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมแนวทางการป้องกันโรคของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หากมีอาการของโรคพึงสังเกตอาการจะคล้ายโรคฝีดาษมีลักษณะอาการ ดังนี้ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดกล้ามเนื้อและอ่อนเพลีย บางกรณีอาจมีอาการไอ หรือปวดหลังร่วมด้วย หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้น โดยเริ่มจากใบหน้าแล้วแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง และสุดท้ายตุ่มหนองจะมีสะเก็ดคลุมแล้วหลุดออกมา อาการป่วยดังกล่าวจะเป็นอยู่ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ แต่ในกรณีผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ หรือมีโรคประจำตัวอาจเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ปอดบวม หรือเสียชีวิต หากพบผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสงสัยจะแยกกักตัวทันทีและรายงานข้อมูลตามแนวทางที่กำหนดต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด หากต้องเดินทางไปยังต่างประเทศที่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง ควรระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ และหลังจากเดินทางกลับจากต่างประเทศที่มีการระบาดให้สังเกตอาการ โรคนี้เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด ไม่ได้ติดต่อกันง่าย โดยมาตรการที่ใช้ป้องกันโควิด 19 ยังใช้ป้องกันฝีดาษลิงได้คือ หากพบความผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขา ให้รีบพบแพทย์ทันที รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ เว้นระยะห่าง ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย หรือผู้มีตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง สำหรับกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและมีคู่นอนหลายคน สามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ที่คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย กรุงเทพมหานคร (BKK Pride Clinic) ซึ่งปัจจุบันมี 27 แห่ง ได้แก่ รพ.กลาง รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร รพ.ราชพิพัฒน์ และ รพ.สิรินธร รวมถึงศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ได้แก่ ศบส.3 บางซื่อ ศบส.4 ดินแดง ศบส.9 ประชาธิปไตย ศบส. 21 วัดธาตุทอง ศบส.22 วัดปากบ่อ ศบส.23 สี่พระยา ศบส.25 ห้วยขวาง ศบส.26 เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ ศบส.28 กรุงธนบุรี ศบส.29 ช่วง นุชเนตร ศบส.36 บุคคโล ศบส.41 คลองเตย ศบส.43 มีนบุรี ศบส.48 นาควัชระอุทิศ ศบส.61 สังวาลย์ ทัสนารมย์ และ ศบส.64 คลองสามวา ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้ รพ.สิรินธร เปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอุบัติใหม่ขึ้น เพื่อเฝ้าติดตามข้อมูล ควบคุมและดูแลสถานการณ์โรคฝีดาษลิงอย่างใกล้ชิด หากพบผู้ป่วยที่อาการต้องสงสัยให้แยกกักตัวและแจ้งให้ผู้บริหารและกระทรวงสาธารณสุขทราบทันที

นอกจากนั้น ยังได้สั่งการให้ทุกโรงพยาบาลสังกัด กทม.เฝ้าระวังคนไข้ทั้งห้องฉุกเฉิน (ER) และผู้ป่วยนอก (OPD) รวมถึง รพ.ที่มีคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกรักษาผู้ติดเชื้อ HIV หากพบผู้ป่วยให้ส่งยืนยันการติดเชื้อ ผ่านสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สอบสวนโรคทุกราย เฝ้าระวังควบคุมโรคในพื้นที่ให้เร็วที่สุด เพื่อลดการแพร่ระบาด พร้อมทั้งเน้นย้ำบุคลากรทางการแพทย์ หากพบผู้ป่วยให้แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้อื่น อย่างไรก็ตาม แม้การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อดังกล่าวได้ แต่การฉีดวัคซีนดังกล่าวควรทำเฉพาะในบุคคลที่ต้องทำงานมีความเสี่ยง หรือใกล้ชิดกับคน หรือสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น และวัคซีนยังสามารถรับได้ภายหลังการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่าน Telemedicine ผ่านแอปพลิเคชัน "หมอ กทม." เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว แล้วแยกกักตัว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ กทม.โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ