วันที่ 17 สิงหาคม 2566 ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (SHECU) ร่วมกับภาคีเครือข่าย คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คปอ. จุฬาฯ) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม และหน่วยงานภายนอก 2 แห่ง คือ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) และสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ฯ เปิดงานสัปดาห์ความปลอดภัยประจำปี 2566 หรือ Chula Safety 2023 ภายใต้แนวคิด "Wellwork & Wellbeing: Thriving Together ร่วมสร้างความปลอดภัยสู่สุขภาวะในการทำงานที่ดีอย่างยั่งยืน" อย่างเป็นทางการ โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานเปิดงานและร่วมฟัง ปาฐกถา หัวข้อ "ความร่วมมือในการขับเคลื่อนความปลอดภัยสู่สุขภาวะในการทำงานที่ดีอย่างยั่งยืน" (Wellwork & Wellbeing: Thriving Together) เกี่ยวกับนโยบาย แนวคิดการขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยฯ โดยมี ศาสตราจารย์ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายโสภณ พงษ์โสภณ ผู้จัดการสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ฯ นายพฤทธ์ฤทธิ์ เลิศลีลากิจจา รองผู้อำนวยการ (วิชาการ) สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมชัย ชัยกิตติภรณ์ ที่ปรึกษาคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรองศาสตราจารย์ ดร.วัฒน์สิทธิ์ ศิริวงศ์ ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์สาธารณสุข (ระดับปริญญาโทและเอก) วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้กล่าวปาฐกถา
สำหรับงาน Chula Safety 2023 ครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2566 นี้ ที่อาคารจามจุรี 9 ชั้น 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อมุ่งสร้างความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยฯ และส่งเสริมการสร้างสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีในการเรียนและการทำงานให้กับประชาคมจุฬาฯ และสาธารณะ รวมถึงปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัย มุ่งสร้างความร่วมมือในการสร้างสุขภาวะที่ดีไปด้วยกัน ซึ่งภายในงานมีการจัดอบรม ให้ความรู้ ประกอบด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ 1) การอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ Active Shooter" 2) การอบรม เรื่อง "กินอยู่ดี ทำงานมีสุข (โภชนบำบัด)" 3) การอบรม เรื่อง "การดับเพลิงและกู้ภัยจากเพลิงไหม้แบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า" 4) การอบรม เรื่อง "5 วิธี DIY ห่างไกลออฟฟิศซินโดรม" 5) การอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "ท่ายืดเหยียดพิชิตอาการออฟฟิศซินโดรม" และ 6) Safety talk "ร่วมสร้างประชาคมจุฬาฯ ปลอดภัย กับความท้าทายในการยกระดับความปลอดภัยรั้วจามจุรี" พร้อมทั้งบูธสินค้านวัตกรรมและการบริการด้านความปลอดภัยและนิทรรศการ จากส่วนงานภายในจุฬาฯ และหน่วยงานเอกชนร่วมแสดงนิทรรศการสินค้า กว่า 20 หน่วยงาน