มบส. จัดกิจกรรมส่งเสริมองค์ความรู้ ใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพระดับชุมชนมาให้ความรู้นักศึกษา พร้อมพัฒนาชุมชน ผ่านกิจกรรม BIOGANG BCG BOOTCAMP
ผศ.ดร.หนึ่งฤทัย เอกธรรมทัศน์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา(มบส.) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ ทางนี้คณะวิทยาการจัดการ มบส. ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ และจังหวัดสมุทรสาคร จัดกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนารูปแบบองค์ความรู้การใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพระดับชุมชน ผ่านกิจกรรม BIOGANG BCG BOOTCAMP ตอน COCO HACK ที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีคณาจารย์และนักศึกษาจากคณะวิทยาการจัดการ เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการทำสวนมะพร้าวและเรียนรู้วิธีการจัดการสวนมะพร้าวที่ได้มาตรฐาน GAP และ GI ในกระบวนการสาธิต เช่น การเพาะพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม การปลูกมะพร้าว การตัดและเก็บเกี่ยวมะพร้าวน้ำหอม สาธิตเทคโนโลยีการปอกมะพร้าว และ การเรียนรู้การใช้ประโยชน์การแปรรูปมะพร้าวในรูปแบบต่างๆ โดยมีคุณไพศาล เพ็งบุญชู และคุณภัทราภรณ์ เพ็งบุญชู เจ้าของสวนไพศาลพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ และยังให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการได้เก็บข้อมูลและสอบถามในเรื่องต่างๆจากวิทยากรด้วย
ด้านดร.ธนิดา สุจริตธรรม ผู้ช่วยอธิการบดี มบส. กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวยังมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น หัวข้อ BCG MODEL กับบทบาทและความท้าทายของประกอบการวิถีใหม่ โดยวิทยากร ดร.ธนิตชังถาวร รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ หัวข้อ มะพร้าวและศักยภาพทางเศรษฐกิจโดย รศ.ดร.ศิวเรศ อารีกิจ สังกัดภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน และหัวข้อ Design Thinking แนวคิดดีมีชัยไปกว่าครึ่ง โดย คุณพีรวงศ์ จาตุรงคกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด การสร้างแบรนด์ สร้างนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังมีการแบ่งกลุ่มของนักศึกษา เพื่อสรุปประเด็นตามหลักการ SWOT พร้อมจับฉลากเลือกประเภทกลุ่มธุรกิจ และการบรรยายพร้อมฝึกปฏิบัติการในหัวข้อ การเขียนแผนธุรกิจ โดยใช้ Business Model Canvas โดยวิทยากร อาจารย์ ดร.พิศิษฐ์ ชำนาญนาสาขาวิชาการตลาดดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์ คณะวิทยาการจัดการ ที่สำคัญเปิดให้นักศึกษานำเสนอธุรกิจตามประเภทที่แต่ละกลุ่มจับฉลากได้ด้วย อย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้รับประโยชน์อย่างมาก โดยนักศึกษาได้ลงพื้นที่ชุมชน ได้เรียนรู้หาประสบการณ์จริง ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักศึกษา เพื่อนำไปพัฒนาชุมชนต่อไป.