กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงว่าด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างกรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมธุรกิจพลังงาน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ณ ห้องกัญญาลักษณ์ ชั้น 3 โรงแรมโฟร์วิงส์ ถนนสุขุมวิท
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง มีนโยบายสำคัญที่จะสร้างกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย โปร่งใส และเอื้อประโยชน์ต่อภาครัฐ องค์กรธุรกิจเอกชน และประชาชน จึงได้ผลักดันให้กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดตั้ง National Single Window เพื่อดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสารระหว่าง กรมศุลกากร และหน่วยงานที่ออกใบอนุญาต/ใบรับรอง/ใบสั่งปล่อย ในการตรวจสอบใบอนุญาตและใบรับรองต่างๆทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อนการตรวจปล่อยสินค้า จำนวน 28 หน่วยงาน กรมศุลกากรจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบตรวจสอบใบอนุญาตและใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการนำเข้าส่งออก และการเชื่อมโยงระบบของกรมศุลกากรกับระบบกลาง นำร่องในการพัฒนาระบบ Single Window
ในเบื้องต้น กรมศุลกากรได้รับความร่วมมือจาก 6 หน่วยงานเข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นต้นแบบในการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ (G2G) โดยกำหนดเป้าหมายในการจัดทำ Pilot Project ระหว่างหน่วยงานดังกล่าวตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 และคาดว่าจะครบวงจรในเดือนกันยายน 2551
สำหรับผู้บริหารทั้ง 7 หน่วยงาน ที่ร่วมลงนามในครั้งนี้ ได้แก่
-นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมศุลกากร
-นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
-นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
-นายเมตตา บันเทิงสุข อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน
-นางมณฑา ประณุทนรพาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
-นายรัชดา สิงคาลวณิช อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และ
-นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
ระบบเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว ส่งผลให้กระบวนการโลจิสติกส์โดยรวมดีขึ้น และทำให้เศรษฐกิจของประเทศทั้งในภาคการค้าและการลงทุนมีความเข็มแข็ง ทัดเทียมนานาอารยประเทศ สามารถแข่งขันทางการค้าในตลาดโลก และหากโครงการนำร่องประสบผลสำเร็จด้วยดี ก็ย่อมจะเป็นแรงผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆเข้าร่วมขับเคลื่อนการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ครบทั้ง 28 หน่วยงานภายในปี 2553